เนื่องด้วยคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานของบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance Policy) และนโยบายการใช้ข้อมูลภายใน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของนักลงทุนสัมพันธ์เป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส สอดคล้องกับกฎหมาย ข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยเน้นให้มีการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และยึดถือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นสำคัญ บริษัทจึงได้กำหนดจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับงานนักลงทุนสัมพันธ์ ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ดังนี้

  1. ปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการ หมวดที่ 4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสและนโยบายการใช้ข้อมูลภายใน (Insider Policy) ของบริษัทอย่างเคร่งครัด
  2. เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ และทันเวลาอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและสอบถามข้อมูลได้ โดยตอบข้อซักถามของนักลงทุนภายใน 1 วันหรือไม่เกินวันทำการรุ่งขึ้น
  3. กำหนดบทบาทหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับงานนักลงทุนสัมพันธ์

    คณะกรรมการบริษัท

    • ให้แนวทางในการกำหนดนโยบายการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท
    • ให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการดำเนินกิจกรรมด้านนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท
    • ติดตามหรือร่วมพิจารณาข้อเสนอแนะและความคิดเห็นที่ได้จากการดำเนินงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์

    ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท

    • มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมด้านนักลงทุนสัมพันธ์ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด
    • ร่วมพิจารณาอนุมัติข้อมูลที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะ ให้เป็นไปตามนโยบายการเปิดเผยข้อมูลและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
    • มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อแสดงมุมมองวิสัยทัศน์ในการบริหารธุรกิจ
    • รับฟังข้อมูลเสนอแนะและความคิดเห็นที่ได้จากการดำเนินงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์

    ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายบัญชีและการเงิน

    • สนับสนุนการให้ข้อมูลทางการเงินให้แก่งานนักลงทุนสัมพันธ์
    • ร่วมพิจารณาเนื้อหาข้อมูลที่จะเปิดเผยโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลทางการเงินให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
    • มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านนักลงทุนสัมพันธ์

    ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์

    • สื่อสารให้ข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ถือหุ้น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ผู้สื่อข่าวและประชาชนทั่วไปที่สนใจข้อมูลบริษัท ไม่ว่าจะเป็นแผนการดำเนินงานปัจจุบันและอนาคต งบประมาณ โครงการของบริษัท รวมถึงผลผลการดำเนินงาน ที่ได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะแล้ว
    • สะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง นำเสนอให้แก่ผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัททราบเพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจในการกำหนดกลยุทธ์บริษัท
    • มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดกลยุทธ์ เนื่องจากได้มีการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) จากกลุ่มเป้าหมายและคณะผู้บริหาร จึงทำให้เข้าใจถึงทิศทาง นโยบาย วิสัยทัศน์ และผลการดำเนินงานบริษัทเป็นอย่างดี
    • จัดเตรียมและรวบรวมข้อมูล ร่วมถึงข่าวสารต่างๆ ทั้งหมดที่บริษัทได้เผยสู่สาธารณชน เพื่อสนับสนุนข้อมูลและให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็น “โฆษก” ประจำบริษัท (Spokesperson) และคณะผู้บริหารระดับสูง ป้องกันการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดและให้ข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
    • สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัท โดยมีการรายงานอย่างเป็นระบบด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้อง ครบถ้วน และทันต่อเวลา
  4. มีการกำหนดโฆษกประจำบริษัท (Spokesperson) เพื่อเป็นตัวแทนของบริษัทในการให้ข้อมูล
  5. กำหนดเครื่องมือและช่องทางการเปิดเผยข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลให้สาธารณะชนทราบอย่างทั่วถึง

    ช่องทางการเปิดเผยข้อมูล ดังนี้

    • การเปิดเผยรายงานข่าวผ่านทางระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
    • รายงานผ่านเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ ทางโทรศัพท์, Website (www.chewathai.com), E-mail, Facebook fan page, Line@, Twitter, Instagram เป็นต้น
    • การประชุมกับนักวิเคราะห์ (Analyst meeting)
    • บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Opportunity Day)
    • การเข้าพบนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ (Roadshow)
    • การเยี่ยมชมกิจการของบริษัท (Site Visit)
    • การประชุมผู้ถือหุ้น (Shareholder Meeting)
    • สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ

    เครื่องมือหรือเอกสารงานนักลงทุนสัมพันธ์ (IR Materials) ดังนี้

    • งบการเงินประจำปีและงบการเงินรายไตรมาส
    • รายงานประจำปี (แบบ 56-2)
    • แบบแสดงรายงานข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1)
    • บทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร (MD&A)
    • Company Snapshot
    • ข้อมูลนำเสนอ (Presentation Material) พิจารณาตามกลุ่มเป้าหมาย
    • รายงานการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability Report)
    • จดหมายข่าวผู้ถือหุ้น (Investor Newsletter)

    เนื้อหาสารสนเทศในการเปิดเผยเพื่อให้นักลงทุนสัมพันธ์ปฏิบัติให้ใช้ภาษาที่ทำให้เข้าใจง่าย ถูกต้อง ตามความจริง และมีข้อมูลทางการเงินและข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องเพียงพอให้ประเมินความสำคัญได้ โดยจะต้องเปิดเผยข้อมูลนำเสนอในการประชุมเฉพาะกลุ่มให้สาธารณะรับทราบโดยทั่วกัน บนเว็บไซต์ของบริษัทภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นโดยเร็ว

  6. มีการกำหนดแผนงานนักลงทุนสัมพันธ์ประจำปี วัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม โดยจะต้องดำเนินกิจกรรมต่างๆ แผนงานและงบประมาณที่วางไว้ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
  7. วิเคราะห์โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หลังจากปิดสมุด เพื่อกำหนดแนวทางการจัดกิจกรรมรวมถึงเรื่องราวขององค์กรที่ใช้สื่อสารข้อมูลไปยังผู้ถือหุ้นได้อย่างตรงจุด
  8. การเปิดเผยข้อมูลที่แตกต่างกัน นักลงทุนสัมพันธ์สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้ที่ต้องการตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความเหมาะสมของในการใช้ข้อมูลแต่ละราย
  9. กรณีที่มีข่าวลือ ข่าวรั่ว หรือเหตุการณ์ที่สำคัญ ให้นักลงทุนสัมพันธ์รีบดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงให้แก่สาธารณะตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือปรับทันทีภายใน 24 ชม. เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและป้องการปัญหาการให้ข้อมูลเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และหากมีเงื่อนไขอื่นใดที่สำคัญประกอบให้ระบุอย่างชัดเจน
  10. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยไม่ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น เพื่อใช้แสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือแก่บุคคลอื่นโดยมิชอบ
  11. บริษัทมีการกำหนดและจำกัดบุคคลที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในของบริษัท เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลภายในตามนโยบายกำกับดูแลกิจการ และนโยบายการใช้ข้อมูลภายใน (Insider Policy) บริษัทกําหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงผู้ดํารงตําแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับรองผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า และผู้ปฏิบัติงานทีเกี่ยวข้องที่ได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสําคัญ
  12. หากนักลงทุนสัมพันธ์และบุคคลข้างต้น ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลภายใน ควรใช้วิจารณญาณในการให้ข้อมูลอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในการให้ข้อมูลต่างๆ ทั้งที่เป็นความลับทางการค้า และข้อมูลภายในที่อาจทำให้บริษัทเสียประโยชน์ในการแข่งขันทางธุรกิจต่อผู้หนึ่งผู้ใดหรือต่อสาธารณชน หากบริษัทยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะหรือต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  13. งดเว้นการเปิดเผยข้อมูลและตอบข้อซักถาม ที่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานของบริษัทแก่บุคคลภายนอก อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ ผู้สื่อข่าว และผู้มีส่วนได้เสีย (Silent Period) ตลอดจนงดเว้นการรับนัดพบให้ข้อมูลแบบตัวต่อตัวหรือจัดประชุมแบบเป็นกลุ่ม ในช่วงเวลา 7 วันก่อนที่บริษัทจะรายงานผลประกอบการรายไตรมาสต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  14. ช่วงเวลาในการเปิดเผยข้อมูลหรืออธิบายการผลการดำเนินงานประจำไตรมาส ภายใน 45 วันหลังประกาศงบการเงิน สำหรับผลประกอบการประจำปี จะช่วงเวลาภายใน 60 วันหลังประกาศงบการเงิน ให้แก่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ ซึ่งรวมไปถึงการจัดงาน Analyst Meeting, Opportunity Day, Roadshow เป็นต้น
  15. แนวปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทสำหรับบุคลากรทีมนักลงทุนสัมพันธ์ อ้างอิงและยึดตามนโยบายการใช้ข้อมูลภายใน และนโยบายกำกับดูแลกิจการ ว่าด้วย งดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้าก่อนการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน และควรรอคอยอย่างน้อย 24 ชั่วโมงภายหลังการเปิดเผยข้อมูลให้แก่สาธารณชนแล้ว รวมทั้งห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสําคัญนั้นต่อบุคคลอื่น
  16. ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในวิชาชีพ บนพื้นฐานของหลักการของความเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติบนอามิสสินจ้างใดๆ ที่เป็นเหตุจูงใจส่วนบุคคลและเอื้อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้อง
  17. ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายต่างๆที่บริษัทกำหนด รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามระเบียบปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  18. หมั่นศึกษาหาความรู้ การอบรมสัมนา หรือหลักสูตรที่สนับสนุนงานนักลงทุนสัมพันธ์เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  19. รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ (Feedback) จากบุคคลภายนอก อาทิ นักลงทุน นักวิเคราะห์ หรือผู้ใช้ข้อมูลบริษัท เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงงาน IR และนำเสนอให้แก่ผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัททราบเพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจในการกำหนดกลยุทธ์บริษัท
  20. ปฏิบัติตามจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนักลงทุนสัมพันธ์ หากฝ่าฝืนให้รายงานการฝ่าฝืนและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้บริหารระดับสูง และหรือ กรรมการผู้จัดการ และหรือคณะกรรมการบริษัทแล้วแต่กรณีโดยไม่ชักช้า
  21. ไม่ควรให้ข้อมูลในเชิงลบโดยการให้ร้ายแก่บริษัทคู่แข่งหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียอื่นๆ
  22. กำหนดให้มีการทบทวนจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ