นโยบายการกํากับดูแลกิจการของบริษัท

คณะกรรมการบริษัท ชีวาทัย จํากัด (มหาชน) (“บริษัท”) ได้ให้ความสําคัญต่อการปฏิบัติตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดีโดยได้ตระหนักถึงบทบาท และหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานในการสร้างเสริมให้เกิดการกํากับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วยการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส คณะกรรมการจึงได้พิจารณาและทบทวนการนําหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี ตามหลัก CG Code ไปปรับใช้ตามบริบทของธุรกิจของบริษัท ปีละหนึ่ง (1) ครั้ง นอกจากนี้บริษัทได้ปฏิบัติตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) สําหรับบริษัทจดทะเบียน ตามแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกําหนดไว้มี 5 หมวด ดังนี้

หมวดที่ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น

บริษัทได้ให้ความสําคัญต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญของบริษัทและการได้รับข้อมูลของบริษัทอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ ทันเวลาและเท่าเทียมกันเพื่อประกอบการตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถรับทราบผลการดําเนินงาน นโยบายการบริหารงาน หรือการเข้าทํารายการที่เกี่ยวโยงกันอย่างถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัท คือ www.chewathai.com, ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรือเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ www.set.or.th. ผู้ถือหุ้นสามารถมั่นใจได้ว่าสิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติด้วยดีเสมอ ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงมีนโยบาย ดังนี้

  1. บริษัทได้แต่งตั้งให้บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จํากัด ทําหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัท เพื่ออํานวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นในการดําเนินงานเกี่ยวกับงานทะเบียนหลักทรัพย์
  2. ในการกําหนดวันประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทจะไม่กําหนดการประชุมในวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดทําการของธนาคารพาณิชย์ โดยจะกําหนดช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ระหว่างเวลา 08.30 - 17.00 น. และสถานที่ประชุมจะอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
  3. สิทธิในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งจัดให้มีปีละหนึ่ง (1) ครั้ง ในวัน เวลา และสถานที่ที่เหมาะสม ภายในเวลาไม่เกินสี่ (4) เดือนนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีของบริษัท
  4. ให้บริษัทจัดส่งหนังสือนัดประชุมพร้อมทั้งข้อมูลประกอบการประชุมตามวาระต่างๆ ให้เพียงพอ โดยระบุวัตถุประสงค์และ เหตุผล ตลอดจนความเห็นของคณะกรรมการในทุกวาระ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วนล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่ายี่สิบเอ็ด (21) วัน ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองได้ บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระหรือบุคคลใดๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้ โดยใช้หนังสือมอบฉันทะที่บริษัทได้จัดส่งไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม
  5. มีนโยบายในการอํานวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจะใช้และจัดเตรียมสถานที่ที่เดินทางสะดวกโดยจะแนบแผนที่จัดประชุมผู้ถือหุ้นไว้ในหนังสือเชิญประชุม รวมถึงเลือกวันเวลาที่เหมาะสมและจัดสรรเวลาในการประชุมอย่างเพียงพอ
  6. ก่อนเริ่มการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจะแถลงให้แก่ผู้ถือหุ้นทราบถึงวิธีการใช้สิทธิลงคะแนนและสิทธิในการแสดงความเห็นรวมทั้งการตั้งคําถามใดๆ ต่อที่ประชุมตามระเบียบวาระการประชุม ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมจะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ อย่างเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็น และตั้งคําถามในที่ประชุมอย่างเต็มที่ โดยประธานกรรมการจะจัดสรรเวลาให้ อย่างเหมาะสม และกรรมการและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องจะเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อตอบคําถามในที่ประชุมด้วย
  7. ให้เพิ่มช่องทางในการรับทราบข่าวสารของผู้ถือหุ้นผ่านทาง website ของบริษัทโดยเปิดเผยข่าวสารต่างๆ และรายละเอียด ไว้ที่ website ของบริษัท โดยเฉพาะในกรณีหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นให้เผยแพร่ก่อนวันประชุมล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถดาวน์โหลดข้อมูลระเบียบวาระการประชุมได้อย่างสะดวกและครบถ้วนและมีเวลาในการศึกษาข้อมูลประกอบการประชุมล่วงหน้าอย่างเพียงพอก่อนได้รับข้อมูลในรูปแบบเอกสารจริงจากบริษัท
  8. การจดบันทึกรายงานการประชุมให้ครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส และบันทึกประเด็นซักถามและข้อคิดเห็นที่สําคัญไว้ในรายงานการประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ให้บริษัทนํารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้พิจารณา รวมถึงส่งรายการประชุมดังกล่าวไปยัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในสิบสี่ (14) วัน นับแต่วันที่มีการประชุมผู้ถือหุ้นนั้น
  9. เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นในการได้รับเงินปันผลโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร (ถ้ามีการจ่ายเงินปันผล) เพื่ออํานวย ความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นให้ได้รับเงินปันผลตรงเวลา ป้องกันปัญหาเรื่องเช็คชํารุด สูญหายหรือส่งถึงผู้ถือหุ้น ล่าช้า
  10. บริษัทได้ดูแลผู้ถือหุ้น โดยการให้รับทราบข้อมูล ข่าวสาร ผลการดําเนินงาน และนโยบายในการบริหารงานอย่างสม่ำเสมอ และทันเวลา โดยนอกจากการเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว บริษัทยังได้นําข้อมูลที่สําคัญรวมทั้งข่าวสารต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันแสดงไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทคือ www.chewathai.com
  11. บริษัทมีนโยบายเชิญผู้ถือหุ้นรายย่อยเสนอระเบียบวาระการประชุมที่สมควรได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อยเก้าสิบ (90) วัน โดยประกาศผ่านระบบการเผยแพร่สารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเว็บไซต์ของบริษัทคือ www.chewathai.com ในหมวดนักลงทุนสัมพันธ์ สําหรับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจําปี

มติที่ประชุมคณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืน ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 รับทราบ กําหนดให้ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสําคัญของบริษัท โดยการให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอเพิ่มวาระการประชุมล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น โดยคณะกรรมการจะพิจารณาถึงความเหมาะสมในการบรรจุเรื่องที่ผู้ถือหุ้นเสนอเป็นวาระการประชุม และให้สิทธิผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าพิจารณาในการดํารงตําแหน่งกรรมการ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่งคําถามล่วงหน้าก่อนวันประชุม สําหรับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจําปี 2566 ที่จัดขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยคณะกรรมการได้ดูแลให้มีการเปิดเผยหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นทราบในระหว่างวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2566

บริษัทได้กําหนดให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้ความสําคัญและเคารพต่อสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นโดยไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นจึงสามารถมั่นใจได้ว่า สิทธิของตนจะได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติด้วยดีเสมอ คณะกรรมการบริษัทมีแนวทางในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิดังกล่าว ดังนี้

  1. บริษัทเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นทราบอย่างเพียงพอ ทันเวลา และทั่วถึง เกี่ยวกับผลการดําเนินงาน นโยบายการบริหารงาน ข้อมูลการทํารายการที่เกี่ยวโยงกันอย่างถูกต้องครบถ้วน รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่ จําเป็นต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นผ่านช่องทางเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคือ www.set.or.th และเว็บไซต์บริษัทคือ www.chewathai.com ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
  2. มีนโยบายอํานวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอชื่อกรรมการ หรือเสนอวาระการประชุมเพิ่มเติมได้ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น
  3. มีการกําหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นการล่วงหน้าเพื่อพิจารณาว่าจะเพิ่มวาระที่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเสนอหรือไม่ อย่างไร รวมถึงมีการกําหนดวิธีการให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าดํารงตําแหน่งกรรมการ
  4. ในการประชุมผู้ถือหุ้นจะพิจารณาและลงคะแนนเสียงตามวาระที่กําหนดโดยไม่เปลี่ยนแปลงข้อมูลสําคัญ หรือเพิ่มวาระการประชุมที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าโดยไม่จําเป็น โดยเฉพาะในวาระสําคัญที่ผู้ถือหุ้นต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ
  5. ให้เพิ่มการอํานวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง โดยให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือให้มีกรรมการอิสระอย่างน้อยหนึ่ง (1) คน เข้าร่วมประชุมและลงมติแทนได้ และแจ้ง รายชื่อกรรมการอิสระดังกล่าวไว้ในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น
  6. ให้ปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นชาวไทยหรือผู้ถือหุ้นต่างชาติ
  7. สนับสนุนให้มีการใช้บัตรลงคะแนนเสียงในทุกวาระเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งในภายหลังและ ในวาระการเลือกตั้งกรรมการจะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิในการแต่งตั้งกรรมการเป็นรายคน
  8. มีการกําหนดแนวทางในการเก็บรักษาและป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเป็นลายลักษณ์อักษรและได้แจ้งแนวทางดังกล่าวให้ ทุกคนในบริษัทถือปฏิบัติและได้กําหนดให้กรรมการทุกคนและผู้บริหารที่มีหน้าที่รายงานการถือครองหลักทรัพย์ตามกฎหมายมีหน้าที่จัดส่งรายงานดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการ
  9. ในกรณีที่กรรมการและผู้บริหารคนใดทําการซื้อขาย โอนหรือรับโอนหลักทรัพย์ของบริษัทจะต้องแจ้งให้สํานักงาน คณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สํานักงาน ก.ล.ต.”) ทราบทุกครั้งภายในสาม (3) วันทําการนับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลง
  10. บริษัทมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลและขจัดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้สอบทานการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สํานักงาน ก.ล.ต. ซึ่งหากที่ประชุมมีมติทํารายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือเข้าทํารายการที่เกี่ยวโยงกัน บริษัทจะทําการเปิดเผยมูลค่ารายการชื่อคู่สัญญาและบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน เหตุผลความจําเป็น และรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการเข้าทํารายการดังกล่าวอย่างถูกต้องครบถ้วนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคือ www.set.or.th และเว็บไซต์บริษัทคือ www.chewathai.com

บริษัทตระหนักและรับรู้ถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียภายใน ได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงานและ ผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ คู่แข่ง ภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องเนื่องจากบริษัทได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ซึ่งสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างกําไรให้บริษัท ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างคุณค่าในระยะยาวให้กับบริษัท คณะกรรมการบริษัทจึงมีนโยบาย ดังนี้

  1. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อผู้ถือหุ้น

    บริษัทตระหนักดีว่า ผู้ถือหุ้นคือเจ้าของกิจการและบริษัทมีหน้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวจึงกําหนดให้พนักงาน ต้องปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้

    • ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดจนตัดสินใจดําเนินการใดๆ ด้วยความระมัดระวังรอบคอบและเป็นธรรม ต่อผู้ถือหุ้นทุกรายเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยรวม
    • กํากับดูแลการดําเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีสถานะทางการเงินและผลการดําเนินงานที่ดีและมีการนําเสนอรายงานสถานภาพของบริษัท ผลประกอบการ ฐานะข้อมูลทางการเงิน การบัญชีและรายงานอื่นๆโดยสม่ำเสมอและครบถ้วนตามความเป็นจริง
    • รายงานให้ผู้ถือหุ้นทราบอย่างเท่าเทียมกันถึงแนวโน้มในอนาคตของบริษัท ทั้งในด้านบวกและด้านลบ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ มีข้อมูลสนับสนุนและมีเหตุมีผลอย่างเพียงพอ
    • ไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นโดยใช้ข้อมูลใดๆ ของบริษัทซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะหรือดําเนินการ ใดๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับองค์กร
    • บริษัทต้องปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายเท่าเทียมกันในการประชุมผู้ถือหุ้น
  2. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อภาครัฐ

    ในการดําเนินธุรกิจบริษัทให้ความสําคัญในการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับทั้งในส่วนงานของภาครัฐโดย เฉพาะในการกระทําธุรกรรม บริษัทหลีกเลี่ยงการกระทําที่อาจจูงใจให้รัฐ หรือพนักงานของรัฐดําเนินการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม แต่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในขอบเขตที่เหมาะสมสามารถทําได้ เช่น การพบปะพูดคุยในที่สาธารณะต่างๆ การไปแสดงความยินดีในวาระโอกาส เทศกาล หรือตามประเพณีปฏิบัติ เป็นต้น โดยมีหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้

    • ดําเนินการอย่างถูกต้อง เมื่อต้องมีการติดต่อเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานของรัฐ
    • ตระหนักอยู่เสมอว่ากฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับในหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อาจมีเงื่อนไข ขั้นตอน หรือวิธีปฏิบัติ ที่แตกต่างกัน และบริษัทจึงรับรู้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  3. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อพนักงาน

    บริษัทตระหนักอยู่เสมอว่าพนักงานทุกคนเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดของบริษัทเป็นปัจจัยแห่งความสําเร็จของการบรรลุเป้าหมายของบริษัท บริษัทจึงกําหนดนโยบายให้มีการปฏิบัติที่เป็นธรรมทั้งในด้านโอกาส ผลตอบแทน การแต่งตั้ง โยกย้ายตลอดจนการพัฒนาศักยภาพ โดยได้ยึดหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้

    • ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเคารพในเกียรติ ศักดิ์ศรี และสิทธิส่วนบุคคล
    • ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทํางานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ
    • การแต่งตั้งและโยกย้าย รวมถึงการให้รางวัลและการลงโทษพนักงาน กระทําด้วยความสุจริตใจ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ความสามารถและความเหมาะสมของพนักงานนั้น
    • ให้ความสําคัญต่อการพัฒนาความรู้ ความสามารถของพนักงาน โดยมีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การจัดอบรม สัมมนา การฝึกอบรม และให้โอกาสอย่างทั่วถึงกับพนักงานทุกคน
    • กําหนดค่าตอบแทนแก่พนักงานอย่างเป็นธรรม ตามสภาวะอุตสาหกรรม การแข่งขันทางธุรกิจ ลักษณะของงาน ผลการปฏิบัติงาน และความสามารถของบริษัทในการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว
    • หลีกเลี่ยงการกระทําใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของพนักงาน
    • เปิดโอกาสให้พนักงานเสนอแนะหรือร้องทุกข์เกี่ยวกับการทํางาน และกําหนดวิธีการแก้ไข เพื่อเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และสร้างความสัมพันธ์อันดีในการทํางานร่วมกัน
  4. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อลูกค้า

    บริษัทมุ่งดําเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยประสงค์ที่จะให้มีการสร้างสรรค์ นําเสนอ และบริหารจัดการผลิตภัณฑ์และการบริการของบริษัทแก่ลูกค้าอย่างมีมาตรฐานและมีจริยธรรมภายใต้หลักการดําเนินงานดังนี้

    • มุ่งมั่นที่จะจัดหา พัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
    • ส่งมอบผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพ ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรม
    • ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการบริการที่ถูกต้อง เพียงพอเพื่อให้ลูกค้ามีข้อมูลในการตัดสินใจโดยไม่มีการกล่าว เกินความเป็นจริงทั้งในการโฆษณาหรือในการสื่อสารช่องทางอื่นๆ กับลูกค้าอันเป็นเหตุให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจผิด เกี่ยวกับคุณภาพ ปริมาณ หรือเงื่อนไขใดๆ ของสินค้าหรือบริการ
    • จัดให้มีกระบวนการที่สามารถให้ลูกค้าแจ้งถึงปัญหาหรือการให้บริการที่ไม่เหมาะสมเพื่อที่บริษัทจะได้ป้องกันแก้ไข ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและนําข้อมูลดังกล่าวไปปรับปรุงหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการดังกล่าวต่อไป
    • รักษาข้อมูลและความลับของลูกค้า โดยไม่นําไปเปิดเผยหรือใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ
  5. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อคู่ค้าและคู่สัญญา

    บริษัทมีนโยบายปฏิบัติต่อคู่ค้าและคู่สัญญาซึ่งถือเป็นหุ้นส่วนและปัจจัยแห่งความสําเร็จทางธุรกิจที่สําคัญประการหนึ่งด้วยความเสมอภาค และคํานึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน โดยบริษัทมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

    • บริษัทประสงค์ที่จะให้การจัดหาสินค้าและบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้หลักการดังต่อไปนี้
      • มีการแข่งขันบนข้อมูลที่เท่าเทียมกัน
      • มีหลักเกณฑ์ในการประเมินและคัดเลือกคู่ค้าและคู่สัญญาอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาคู่ค้าที่มีประวัติทาง การเงินที่เชื่อถือได้ มีศักยภาพ สามารถผลิตสินค้าหรือให้บริการที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ และตรวจสอบคุณภาพได้
      • จัดทํารูปแบบสัญญาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย
      • จัดให้มีระบบการจัดการและติดตามเพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาอย่างครบถ้วน และป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดหา
      • จ่ายเงินให้คู่ค้าและคู่สัญญาตรงเวลา ตามเงื่อนไขการชําระเงินที่ตกลงกัน
    • บริษัทมุ่งหมายที่จะพัฒนาและรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับคู่ค้าและคู่สัญญาที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการที่คุ้มค่ากับมูลค่าเงินและมีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน
    • ห้ามผู้บริหารและพนักงานทุกคนรับผลประโยชน์ใดๆ เป็นส่วนตัวจากคู่ค้าและคู่สัญญาไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
    • ไม่ใช้ข้อมูลที่ได้ทราบอันเนื่องมาจากการจัดซื้อ จัดหาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น
  6. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อเจ้าหนี้

    บริษัทยึดมั่นในการดําเนินธุรกิจอย่างมีหลักการและวินัยเพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับเจ้าหนี้โดยบริษัทได้ยึดหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้

    • ปฏิบัติต่อเจ้าหนี้ด้วยความซื่อสัตย์ และเป็นธรรม โดยการชําระคืนเงินกู้ยืม และดอกเบี้ยจ่ายตรงตามกําหนดเวลา รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ระบุในสัญญาเงินกู้และข้อตกลงต่างๆ อย่างเคร่งครัด เช่น การบริหารเงินทุน และ มาตรการป้องกันการผิดนัดชําระหนี้
    • กรณีที่มีเหตุการณ์ที่อาจส่งผลต่อธนาคาร สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้เงินกู้ยืมของบริษัท หรือไม่สามารถปฏิบัติตาม เงื่อนไขที่ระบุในสัญญาเงินกู้ยืมได้ บริษัทจะจัดทําหนังสือชี้แจงและส่งให้ธนาคาร สถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ และ เจ้าหนี้เงินกู้ยืมเป็นการล่วงหน้า และหารือตกลงแก้ไขปัญหาร่วมกันทุกครั้ง
  7. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อคู่แข่งทางการค้า

    บริษัทมุ่งดําเนินธุรกิจโดยประสงค์ที่จะประสบความสําเร็จอย่างยั่งยืนและเป็นบริษัทชั้นนําในธุรกิจภายใต้การแข่งขันในอุตสาหกรรมอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม โดยมีหลักการปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า ดังนี้

    • ประพฤติปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี
    • ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้า ด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ในการดําเนินธุรกิจของบริษัท
    • ไม่กล่าวหาในทางร้าย หรือมุ่งทําลายชื่อเสียงแก่คู่แข่งทางการค้า
    • ไม่กระทําการใดๆ ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นหรือคู่แข่งทางการค้า
    • ส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาความสามารถของคู่ค้า เช่น การร่วมมือกันพัฒนาสินค้า และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของบริษัท และคู่ค้า
    • โดยในรอบปี 2565 บริษัทไม่มีข้อพิพาทกับคู่แข่งเกิดขึ้นในปี
  8. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมส่วนรวม

    บริษัทให้ความสําคัญกับชุมชนและสังคมโดยรอบด้วยตระหนักดีว่าเราเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของสังคมที่จะร่วมก้าวเดินไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนสืบไป บริษัทจึงได้ดําเนินกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการดําเนินธุรกิจ ภายใต้ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมโดยรวม ดังนี้

    • นโยบายในการประกอบธุรกิจโดยคํานึงถึงสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นสําคัญ และปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้อยู่อย่างเคร่งครัด
    • มีนโยบายการดําเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อย่างชัดเจน และยึดถือปฏิบัติกันภายในองค์กร
    • ส่งเสริมให้พนักงานของบริษัท มีจิตสํานึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
    • เคารพต่อขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่บริษัทเข้าไปดําเนินธุรกิจ
    • ดําเนินกิจกรรมเพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ําเสมอเพื่อให้ชุมชนที่บริษัทตั้งอยู่มีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้นทั้งที่ดําเนินการเองและร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน
    • ให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ กับชุมชนโดยรอบในพื้นที่ที่บริษัทเข้าไปดําเนินธุรกิจอยู่ตามควรแก่กรณี
    • ตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน ชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการดําเนินงานของบริษัท โดยให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถสอบถามรายละเอียด แจ้งข้อร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสการกระทําผิดทางกฎหมาย ความถูกต้องของรายงานทางการเงิน ระบบควบคุมภายในที่บกพร่อง หรือการผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ผ่านกรรมการอิสระหรือกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้ ทั้งนี้ ข้อมูลร้องเรียนและแจ้งเบาะแสจะได้รับการคุ้มครองและเก็บไว้เป็นความลับโดยกรรมการอิสระ หรือกรรมการตรวจสอบจะดําเนินการสั่งการตรวจสอบข้อมูล และหาแนวทางแก้ไข (ถ้ามี) และจะรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป

ช่องทางการติดต่อบริษัทของผู้มีส่วนได้เสีย

คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสําคัญต่อการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการเสริมสร้างผลการดําเนินงานของบริษัทเพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้แก่บริษัท โดยการเปิดเผยข้อมูลสําคัญที่เกี่ยวข้องในการดําเนินธุรกิจให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบอย่างเพียงพอและโปร่งใส นอกจากนี้บริษัทจัดให้มีช่องทางสําหรับผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน สามารถสอบถามรายละเอียด แจ้งข้อร้องเรียน แจ้งการถูกละเมิดสิทธิ แจ้งเบาะแสการกระทําผิดทางกฎหมาย ความถูกต้องของรายงานทางการเงิน ระบบควบคุมภายในที่บกพร่อง หรือการผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัผ่านกรรมการอิสระหรือกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้ โดยบริษัทเปิดช่องทางให้ผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ติดต่อคณะกรรมการบริษัทหรือผู้บริหารระดับสูงผ่านช่องทาง ดังนี้

1. โทรศัพท์ Call Center 1260
กด 3 ติดต่อนักลงทุนสัมพันธ์ หรือ กด 4 แจ้งร้องเรียน
2. จดหมาย จัดส่งทางไปรษณีย์ หรือยื่นส่งโดยตรงที่
บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน)
1168/80 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ ชั้น 27 ยูนิตดี
ถนนพระรามสี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร
กรุงเทพมหานคร 10120
3. อีเมล auditcommittee@chewathai.com
4. เว็บไซต์ www.chewathai.com

ข้อมูลร้องเรียนและแจ้งเบาะแสจะได้รับการคุ้มครองและเก็บไว้เป็นความลับโดยกรรมการอิสระ หรือกรรมการตรวจสอบจะดําเนินการสั่งการตรวจสอบข้อมูล และหาแนวทางแก้ไข (ถ้ามี) และจะรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป สําหรับในส่วนของพนักงาน บริษัทได้เปิดช่องทางให้พนักงานแสดงความคิดเห็น ร้องเรียน หรือรายงานการกระทําที่ไม่ถูกต้องผ่านช่องทาง Whistleblower ของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทได้ให้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในกลุ่มต่างๆ โดยให้ความสําคัญกับการดําเนินธุรกิจโดยคํานึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม สิ่งแวดล้อม ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง พนักงาน เจ้าหนี้ ซึ่งในปี 2565 บริษัทไม่มีกรณีของการฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน การจ้างงาน การแข่งขันทางการค้า รวมตลอดถึงบริษัทไม่มีกรณีของการถูกดําเนินการใดๆ จากหน่วยราชการหรือหน่วยงานที่กํากับดูแลกฎหมาย กฎ และระเบียบต่างๆ อันเนื่องมาจากการที่บริษัทไม่ได้ประกาศข้อมูลที่ เป็นเหตุการณ์สําคัญภายในระยะเวลาที่หน่วยราชการต้องการให้บริษัทต้องดําเนินการ

คณะกรรมการพิจารณาให้บริษัทมีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสม ทั้งข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัติตาม จรรยาบรรณ ต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึงการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชน ครอบคลุมถึงความรับผิดต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนการปฏิบัติที่จะนําไปสู่การสร้างคุณค่าร่วมทั้งแก่บริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ลูกค้า หรือพนักงาน เป็นต้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ผู้ถือหุ้น

    บริษัทมีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลและสารสนเทศ อาทิ ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทั่วไปที่สําคัญเกี่ยวกับธุรกิจและ ผลประกอบการของบริษัทที่ตรงกับความเป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอ สม่ำเสมอ ทันเวลาอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน โดยได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ได้รับทราบผ่านช่องทางต่างๆ โดยมีฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ในการให้บริการข้อมูลและข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทกับผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ

    • การรายงานผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
    • แบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี (แบบ 56-1)
    • เว็บไซต์ของบริษัทคือ www.chewathai.com
    • สื่อมวลชนต่างๆ ทั้งด้านหนังสือพิมพ์และวารสารธุรกิจ โทรทัศน์

    ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อย นักลงทุนทั่วไป และนักวิเคราะห์ที่ต้องการข้อมูลที่เกี่ยวกับบริษัทสามารถติดต่อกับฝ่ายนักลงทุน สัมพันธ์ของบริษัทได้โดยตรง ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทจะตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐาน ของการเปิดเผยข้อมูลที่เท่าเทียมกันบริษัทได้ตระหนักและมีความรับผิดชอบต่อความเชื่อถือได้ของข้อมูลทางการเงิน โดย คณะกรรมการบริษัทได้จัดทํารายงานทางการเงินที่มีข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน ตามมาตรฐานการบัญชีและหลักบัญชีที่รับรองทั่วไป รวมทั้งการเปิดเผยสารสนเทศสําคัญที่มีผลกระทบ หรืออาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในราคาหลักทรัพย์ของบริษัทต่อการตัดสินใจลงทุน โดยการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐอย่างเคร่งครัดและติดตามแก้ไข เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมาย กฎเกณฑ์มีความทันสมัย และเป็นหลักประกันให้ผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นในการดําเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา

    งานนักลงทุนสัมพันธ์

    ในปี 2565 บริษัทได้ดําเนินการเพื่อให้บริการข้อมูลและข่าวสารของบริษัทผ่านช่องทางต่างๆ และผ่านสื่อมวลชน อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ ผู้มีส่วนได้เสียอื่น และบุคคลทั่วไปรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ดังนี้

    1. ผู้บริหารบริษัทได้ให้ข้อมูลในภาพรวมของการดําเนินงาน และตอบข้อซักถามแก่นักวิเคราะห์และนักลงทุน อาทิ การพบปะ นักวิเคราะห์และนักลงทุน (Company Visit) การประชุมทางโทรศัพท์ (Conference Call) รวมถึงการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst meeting) เพื่อให้ข้อมูลกับนักวิเคราะห์และนักลงทุน และเปิดโอกาสให้ได้สอบถามข้อมูลและข้อสงสัยต่างๆ จากผู้บริหารโดยตรง อีกทั้งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในสายตาของนักวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การจัด Analyst meeting ประจําปี 2565 วันที่ 22 สิงหาคม 2565 ณ มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์
    2. การเข้าร่วมกิจกรรมบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) ประจําปี 2565 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นเป็นประจําทุกไตรมาสเพื่อพบปะกับนักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ให้ข้อมูลที่เน้นไปในการชี้แจงเกี่ยวกับผลประกอบการในแต่ละไตรมาส จํานวนทั้งสิ้น 4 ครั้ง คือ (1) ประกาศผลการดําเนินงานประจําปี 2564 วันที่ 2 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2565 Slot ที่ 6 เวลา 15:15-16:00 น. (2) ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 วันที่ 27 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2565 Slot ที่ 4 เวลา 13:15-14:00 น. (3) ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 วันที่ 23 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2565 Slot ที่ 2 เวลา 10:15-11:00 น. (4) ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 วันที่ 22 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 Slot ที่ 4 เวลา 13:15-14:00 น.
    3. การเดินทางไปพบนักลงทุน (Roadshow) เพื่อนําเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ผลประกอบการ ความคืบหน้าในด้านต่างๆ รวมถึงภาวะอุตสาหกรรม สถานะและแนวโน้มในการดําเนินในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่ง Roadshow ประจําปี 2565 จํานวนทั้งสิ้น 4 ครั้ง คือ (1) Deal Roadshow ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 17 มกราคม 2565 บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จํากัด (2) Deal Roadshow ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์ จํากัด (3) Deal Roadshow ครั้งที่ 3/2565 วันที่ 23 สิงหาคม 2565 บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จํากัด (4) Roadshow ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 26 ตุลาคม 2565 บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จํากัด
    4. การให้ข่าวประชาสัมพันธ์ต่อสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสารต่างๆ เกี่ยวกับภาพรวมธุรกิจของบริษัท และทิศทางการดําเนินธุรกิจในอนาคต รวมตลอดถึงการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารบริษัท กรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ เพื่อสื่อสารข้อมูลไปถึงคนในวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนรายย่อยโดยบริษัทได้จัดกิจกรรมงานแถลงแผนการดําเนินงานทางธุรกิจ ประจําปี 2565 ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ลิโด้ คอนเน็คท์
    5. การเยี่ยมชมกิจการ (Site Visit) เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเข้าเยี่ยมชมกิจการและความคืบหน้าของโครงการ ประจําปี 2565 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ณ โครงการชีวาทัย ปิ่นเกล้า

      บริษัท ชีวาทัย จํากัด (มหาชน) ได้จัดกิจกรรมผู้ถือหุ้นเข้าเยี่ยมชมการโครงการชีวาทัย ปิ่นเกล้า นําโดยคุณธนิศร นิติสาโรภาส รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงินและบัญชี คณะผู้บริหารให้การต้อนรับเป็นอย่างดี วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ บริษัทเล็งเห็นความสําคัญในการดําเนินธุรกิจตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี โดยมุ่งสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจ ให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่ถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใส รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้เยี่ยมชมกิจการของบริษัทและได้รับทราบความก้าวหน้าของโครงการอีกด้วย

    6. การให้ข้อมูลผ่านทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ แบบ 56 - 1 One Report งบการเงินของบริษัท รายงานการวิเคราะห์งบการเงินรายไตรมาส และอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และบุคคลทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลและซักถามข้อสงสัยต่างๆ โดยติดต่อได้ที่ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์

    บริษัทจัดให้มีฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) เพื่อทําหน้าที่ติดต่อสื่อสารให้ข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งผู้ถือหุ้น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ผู้สื่อข่าวและประชาชนทั่วไป อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ทราบข้อมูลของบริษัทอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทันต่อเวลา แสดงข้อมูลถึงผลประกอบการและแผนการดําเนินธุรกิจในอนาคต เพื่อเป็นข้อมูลช่วยในการประกอบการตัดสินใจลงทุนและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัท โดยบริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทั้งนี้ บริษัทได้กําหนดจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับงานนักลงทุนสัมพันธ์ ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส โดยยึดถือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นสําคัญ

    สําหรับปี 2565 บริษัทได้จัดกิจกรรมนักลงทุนสัมพันธ์เพื่อเปิดเผยข้อมูลของบริษัทให้แก่นักลงทุน สรุปได้ดังนี้

    รูปแบบกิจกรรม จํานวนครั้ง
    จัดประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) 1
    การเข้าร่วม Opportunity Day ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ 4
    การพบปะนักวิเคราะห์และนักลงทุน (Roadshow) 4
    แถลงแผนปีกับสื่อมวลชน 1
    ผู้ถือหุ้นเยี่ยมชมกิจการ (Site Visit) 1

    นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว บริษัทมีช่องทางการเปิดเผยข้อมูลผ่านทาง การรายงานผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เว็บไซต์บริษัท www.chewathai.com โดยข้อมูลบนเว็บไซต์จะมีการอัปเดตให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมถึงการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อีกด้วย

    อีกทั้ง บริษัทมีเครื่องมือหรือเอกสารงานนักลงทุนสัมพันธ์ (IR Materials) เพื่อให้ทราบข้อมูลของบริษัทและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ดังนี้

    1. งบการเงินประจําปีและงบการเงินรายไตรมาส
    2. แบบ 56-1 One Report (Form 56-1 One Report)
    3. คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (MD&A)
    4. Company Snapshot
    5. ข้อมูลนําเสนอ (Presentation Material) พิจารณาตามกลุ่มเป้าหมาย
    6. รายงานการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability Report)
    7. จดหมายข่าวนักลงทุน (Investor Newsletter)

    ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามและติดต่อฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ได้ที่

    ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ : นางสาวชนิสรา ยิ่งนอก

    บริษัท ชีวาทัย จํากัด (มหาชน)

    ที่อยู่ : 1168/80 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ ชั้น 27 ยูนิตตี ถนนพระรามสี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120
    เว็บไซต์ : www.chewathai.com
    โทรศัพท์ : (02) 679 8870 - 4 ต่อ 163 หรือ Call center : 1260 กด 3
    อีเมล : ir@chewathai.com

    ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและตอบข้อซักถามที่เกี่ยวข้องกับผลการดําเนินงานของบริษัทแก่บุคคลภายนอก อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ ผู้สื่อข่าว และผู้มีส่วนได้เสีย บริษัทมีนโยบายงดเว้นการรับนัดพบ (Silent Period) เพื่อให้ข้อมูลแบบตัวต่อตัวหรือจัดประชุมแบบเป็นกลุ่ม ในช่วงเวลา 7 วันก่อนที่บริษัทจะรายงานผลประกอบการรายไตรมาสต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  2. ลูกค้า

    บริษัทมีช่องทางการเปิดเผยข้อมูลโครงการต่างๆ ของบริษัทให้ลูกค้าได้รับทราบผ่านช่องออนไลน์ ได้แก่ www.chewathai.com และ www.facebook.com/CHEWATHAI รวมทั้งช่องทาง Call center 1260 ของบริษัท

  3. พนักงาน

    พนักงานของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่ประจําสํานักงานใหญ่หรือตามโครงการต่างๆ จะได้รับการดูแลและได้รับข้อมูลโดยเท่าเทียมกัน รวมทั้งการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ อาทิ การติดประกาศที่บอร์ดของบริษัทและที่โครงการต่างๆ การสื่อสารผ่านกลุ่มของฝ่ายต่างๆ ในรูปแบบ Chewathai Club Intranet และ Line ซึ่งจะมีผู้บริหารระดับสูงอยู่ด้วยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานได้รับรู้ข่าวสารต่างๆ ของบริษัท ดังนี้

    • นโยบาย ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ของบริษัท
    • ข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ของบริษัท
    • ข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ
    • ข่าวเกี่ยวกับพนักงานในเรื่องต่างๆ เช่น การเลื่อนตําแหน่ง การปรับตําแหน่ง พนักงานเข้าใหม่ หรือ พนักงานลาออกและอื่นๆ เป็นต้น
    • ข่าวที่เป็นความรู้แก่พนักงาน เช่น ข่าวเกี่ยวกับภาษี ข่าวเกี่ยวกับประกันสังคม เป็นต้น

อนึ่ง คณะกรรมการบริษัทยังให้ความสําคัญและกําหนดแนวทางปฏิบัติต่อข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ การรวบรวม การจัดเก็บ การใช้ข้อมูล และ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการจัดการความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อเสรีภาพของบุคคล เพื่อเป็น มาตรการคุ้มครองข้อมูลที่มีความเหมาะสม

คณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการดําเนินธุรกิจของบริษัท การกํากับดูแลกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

  1. โครงสร้างคณะกรรมการบริษัท

    คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วย บุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในหลายสาขา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจ กฎหมาย บัญชี การเงิน เป็นต้น ซึ่งกรรมการทุกคนผ่านการอบรมหลักสูตรกรรมการจาก สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors Association : IOD) ทั้งนี้ คณะบุคคลดังกล่าวนี้มีบทบาทสําคัญในการกําหนดนโยบายของบริษัทร่วมกับผู้บริหารระดับสูงวางแผนการดําเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนกําหนดนโยบายทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง และภาพรวมขององค์กร มีบทบาทสําคัญในการกํากับดูแลตรวจสอบและประเมินผลการดําเนินงานของบริษัท รวมถึงผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นอิสระ

    โครงสร้างคณะกรรมการของบริษัทในปี 2565 ประกอบด้วยคณะกรรมการทั้งหมดจํานวน 6 คณะ ดังนี้ (1) คณะกรรมการบริษัท (2) คณะกรรมการตรวจสอบ (3) คณะกรรมการบริหาร (4) คณะกรรมการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทน (5) คณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืน และ (6) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

    บริษัทมีการกําหนดและแยกอํานาจของคณะกรรมการแต่ละชุดไว้อย่างชัดเจน โดยในการพิจารณาตัดสินใจในเรื่องสําคัญจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการแต่ละชุด ซึ่งมีหน้าที่เฉพาะเรื่องและเสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาหรือรับทราบ เพื่อถ่วงดุลและสอบทานให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทมีจํานวนเจ็ด (7) ท่าน ประกอบด้วย

    • กรรมการบริษัทที่เป็นผู้บริหารจํานวนหนึ่ง (1) ท่าน (Executive Directors)
    • กรรมการบริษัทที่ไม่เป็นผู้บริหารจํานวนสอง (2) ท่าน (Non-executive Directors)
    • กรรมการอิสระ กรรมการที่มีคุณสมบัติเป็นอิสระสี่ (4) ท่าน ซึ่งคิดเป็นจํานวนเกินร้อยละห้าสิบ (50) ของจํานวนกรรมการบริษัททั้งคณะอันจะทําให้เกิดการถ่วงดุลในการพิจารณาและออกเสียงในเรื่องต่างๆ อย่างเหมาะสม

    ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละไม่เกินสาม (3) ปีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกําหนดโดยกรรมการอิสระจะมีวาระการดํารงตําแหน่งต่อเนื่องไม่เกินเก้า (9) ปี เว้นแต่คณะกรรมการบริษัทจะเห็นว่าบุคคลนั้นสมควรดํารงตําแหน่งเป็นกรรมการอิสระของบริษัทต่อไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท นอกจากนี้ กรรมการและผู้บริหารของบริษัท สามารถเข้าดํารงตําแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทในเครือหรือบริษัทอื่นได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อกําหนดของสํานักงาน ก.ล.ต.คณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกํากับตลาดทุน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้รับทราบด้วย

  2. การแต่งตั้งและวาระการดํารงตําแหน่งของกรรมการบริษัท
    1. หลักเกณฑ์การเลือกตั้ง การแต่งตั้งกรรมการบริษัท

      กรรมการบริษัทมีคุณสมบัติและประสบการณ์ตามที่บริษัทต้องการและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยกรรมการต้องมีเวลาอย่างเพียงพอ อุทิศความรู้ความสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้แก่บริษัท โดยบริษัทมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นกรรมการ ตามข้อบังคับของบริษัท โดยสรุปดังนี้

      1. กรรมการทุกคนต้องมีคุณสมบัติตามที่กําหนดไว้ในกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนมีคุณสมบัติตามที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท
      2. ต้องสําเร็จการศึกษาอย่างน้อยชั้นปริญญาตรีในสาขาใดก็ได้
      3. เป็นผู้มีความรู้ในกิจการของบริษัทและสามารถอุทิศเวลาได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนใช้ความรู้ความสามารถที่มีเพื่อประโยชน์ของบริษัท
      4. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรมสูง
      5. กรรมการต้องไม่ดํารงตําแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทที่จดทะเบียนอื่นๆ เกินกว่าห้า (5) บริษัท ในกรณีที่กรรมการคนใดคนหนึ่งมีตําแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทที่จดทะเบียนอื่นๆ เกินกว่าห้า (5) บริษัท คณะกรรมการจะพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการท่านดังกล่าว และรายงานเหตุผลในการแต่งตั้งกรรมการดังกล่าวไว้ในรายงานการปฏิบัติตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งปรากฏตามแบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี (แบบ 56-1) และรายงานประจําปี (แบบ 56-2)
      6. กรรมการบริษัทได้รับการแต่งตั้ง เลือกตั้ง และถอดถอนโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีวาระการดํารงตําแหน่งตามข้อบังคับของบริษัทและเมื่อครบวาระแล้วอาจได้รับการเลือกตั้งกลับเข้าดํารงตําแหน่งต่อไปได้อีก เว้นแต่ในกรณีที่ตําแหน่งกรรมการบริษัทว่างลงโดยมิใช่เป็นการออกตามวาระ คณะกรรมการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทนจะทําหน้าที่พิจารณาสรรหาบุคคลที่เหมาะสมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นกรรมการในตําแหน่งที่ว่างลงตามข้อบังคับบริษัท
      7. ในการประชุมสามัญประจําปีผู้ถือหุ้นทุกครั้ง ให้กรรมการจํานวนหนึ่งในสามของกรรมการทั้งหมดออกจากตําแหน่ง หากไม่สามารถแบ่งจํานวนกรรมการทั้งหมดออกเป็นสามส่วนเท่ากันได้ ให้กรรมการที่ออกมีจํานวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม กรรมการที่ออกตามวาระนั้นอาจถูกเลือกกลับเข้ามาดํารงตําแหน่งอีกก็ได้

        นอกจากการพ้นตําแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการพ้นจากตําแหน่งเมื่อ

        1. เสียชีวิต
        2. ลาออก (โดยมีผลตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับจดหมายลาออก)
        3. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบ และประกาศที่ออกตามความของ กฎหมาย หรือตามข้อบังคับบริษัท
        4. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้ออก
        5. ศาลมีคําสั่งให้ออก
      8. การเสนอชื่อบุคคลให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งเป็นกรรมการแทนกรรมการที่ครบกําหนดออกตามวาระคณะกรรมการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทน จะเป็นผู้สรรหาเพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาก่อนเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาและเลือก
      9. ในการเลือกตั้งกรรมการ ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนเลือกกรรมการเป็นรายบุคคล และผู้ถือหุ้นมีสิทธิเลือกตั้งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการที่จะเลือกตั้งในครั้งนั้น โดยจะแบ่งคะแนนเสียงไม่ได้
      10. บุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลําดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่าจํานวนกรรมการที่จะเลือกตั้งใน ครั้งนั้นโดยกรรมการที่ครบกําหนดออกตามวาระ อาจได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ได้
      11. ผู้ถือหุ้นมีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อหนึ่งเสียง
    2. วาระการดํารงตําแหน่งของกรรมการบริษัท

      บริษัทกําหนดวาระการดํารงตําแหน่งกรรมการคราวละสาม (3) ปี แต่อย่างไรก็ตามบริษัทเชื่อว่าอายุหรือระยะเวลา ดํารงตําแหน่งมิได้เป็นอุปสรรค หากเปรียบเทียบกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์อันทรงคุณค่าที่แต่ละคนมีและ พร้อมที่จะนํามาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัท

    3. จํานวนบริษัทที่กรรมการดํารงตําแหน่ง

      บริษัทได้กำหนดนโยบายในการดํารงตําแหน่งกรรมการบริษัทในบริษัทจดทะเบียนได้คนละไม่เกินห้า (5) แห่ง แต่มิได้ กําหนดนโยบายการจํากัดจํานวนการเป็นกรรมการบริษัทในบริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียนอื่น

    4. การดํารงตําแหน่งในบริษัทอื่นของกรรมการผู้จัดการ

      คณะกรรมการบริษัทเล็งเห็นว่า เพื่อให้บริษัทได้รับประโยชน์สูงสุดในการที่กรรมการผู้จัดการจะสามารถอุทิศเวลาสําหรับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการผู้จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กําหนดเป็นนโยบายว่า ห้ามมิให้กรรมการผู้จัดการดํารงตําแหน่งเป็น กรรมการผู้จัดการในบริษัทจดทะเบียนอื่น

  3. คณะกรรมการบริษัท

    สรุปการดํารงตําแหน่งในบริษัทจดทะเบียนอื่นของกรรมการ ดังนี้

    ลำดับ ชื่อ - นามสกุล บริษัทจดทะเบียนอื่น
    1. นายชาติชาย พานิชชีวะ 1. ประธานกรรมการ บมจ.ไทยศรีประกันภัย จํากัด (มหาชน)
    2. ประธานกรรมการ บมจ.เอทีพี 30
    3. กรรมการผู้มีอํานาจลงนาม บมจ.คาเธ่ย์ลีสแพลน
    4. กรรมการผู้มีอํานาจลงนาม บมจ.ทีทีแอล อุตสาหกรรม
    2. นางสมหะทัย พานิชชีวะ 1. กรรมการ บมจ.เอทีพี 30
    2. กรรมการ/ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อมตะ วีเอ็น
    3. นายบุญ ชุน เกียรติ -ไม่มี-
    4. นางสุภาภรณ์ บุรพกุศลศรี กรรมการอิสระ บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์
    5. นายชัยยุทธ เตชะทัศนสุนทร กรรมการ/กรรมการอิสระ บมจ.ทีทีแอล อุตสาหกรรม
    6. พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ 1. กรรมการอิสระ/ประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จํากัด (มหาชน)
    2. กรรมการ บมจ.การบินกรุงเทพ
    7. นายพินิจ หาญพาณิชย์ กรรมการ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล

    ทั้งนี้ บริษัทได้เปิดเผยรายละเอียดข้อมูลการดํารงตําแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นของกรรมการแต่ละคนไว้อย่างละเอียดในแบบ 56-1 One Report ซึ่งบริษัทมั่นใจว่า จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่กรรมการบริษัท โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะกรรมการบริษัทได้แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการบริษัทสามารถอุทิศเวลาในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทได้รับคําปรึกษา คําแนะนํา และข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ในการดําเนินธุรกิจของบริษัทอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

    บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

    1. ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต
    2. กําหนดรายละเอียด ให้ความเห็นชอบ และพิจารณาทบทวน วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ ทิศทางของธุรกิจ นโยบาย เป้าหมาย แนวทาง แผนการดําเนินงาน และงบประมาณของบริษัทและบริษัทย่อย ตามที่ฝ่ายบริหารจัดทํา และกํากับดูแลการบริหารงานและผลการปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการ หรือบุคคลใดๆ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทําหน้าที่ดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด
    3. ติดตามผลการปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานและงบประมาณ
    4. ดําเนินการให้บริษัทและบริษัทย่อยนําระบบงานบัญชีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมาใช้ รวมทั้งจัดให้มีระบบควบคุมภายในและระบบการตรวจสอบภายใน
    5. สอบทานกระบวนการและนโยบายในการบริหารความเสี่ยง และติดตามผลการปฏิบัติงาน
    6. จัดให้มีนโยบายเกี่ยวกับการกํากับดูแลกิจการตามหลักธรรมาภิบาล และการปรับใช้นโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
    7. แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อย เช่น คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการ บริหาร หรือคณะกรรมการชุดย่อยอื่นใด เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท
    8. แต่งตั้งผู้บริหารระดับอาวุโสของบริษัท เช่น กรรมการผู้จัดการ (Managing Director) รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารองค์กร (Executive Vice President) รองกรรมการผู้จัดการสายงานบัญชีและการเงิน (Executive Vice President - Accounting & Corporate Finance) และผู้บริหารระดับสูงในสายงานต่างๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทเห็นจำเป็นและสมควร
    9. แต่งตั้งเลขานุการบริษัท เพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการบริษัทในการปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อให้การดําเนินธุรกิจของบริษัทเป็น ไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
    10. ขอความเห็นทางวิชาชีพจากองค์กรภายนอก หากมีความจําเป็นเพื่อประกอบการตัดสินใจที่เหมาะสม
    11. ส่งเสริมให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัท เข้าร่วมหลักสูตรสัมมนาต่างๆ ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารนั้น
    12. กํากับดูแลให้มั่นใจว่าแนวทางปฏิบัติต่อข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การรวบรวม การจัดเก็บ การใช้ข้อมูล และ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการจัดการความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อเสรีภาพของบุคคล สามารถใช้เป็นมาตรการคุ้มครองข้อมูลที่มีความเหมาะสม อีกทั้งการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลถูกควบคุมภายใต้มาตรการที่กําหนด และ มีการตรวจสอบ ประเมิน ความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ
    13. ตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของตนเป็นประจําทุกปี
    14. ตรวจสอบและประเมินความเพียงพอของกฎบัตรคณะกรรมการบริหาร และเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎบัตรฉบับนี้
    15. ดําเนินการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท

    ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทกํากับดูแลให้การดําเนินงานของบริษัทเป็นไปโดยถูกต้อง ตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ตามที่กล่าวไว้ในบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท ดังนั้น ในปีที่ผ่านมาบริษัทจึงไม่มีประวัติการกระทําผิดกฎระเบียบของสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

    คณะกรรมการชุดย่อย

    โครงสร้างในส่วนคณะกรรมการบริษัท ชีวาทัย จํากัด (มหาชน) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ประกอบด้วยคณะกรรมการชุดย่อยจํานวน 5 คณะ ได้แก่ (1) คณะกรรมการตรวจสอบ (2) คณะกรรมการบริหาร (3) คณะกรรมการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทน (4) คณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืน และ (5) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

    1. คณะกรรมการตรวจสอบ

      คณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วยกรรมการบริษัทที่มีคุณสมบัติของกรรมการอิสระครบถ้วนตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทุกคนมีความเป็นอิสระและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่สํานักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กําหนด โดยมีหน้าที่ ความรับผิดชอบและมีบทบาทการปฏิบัติงานในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระที่ให้การสนับสนุนคณะกรรมการบริษัทในการดูแลกํากับกิจการให้เป็นไปตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี ขจัดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ สอบทานข้อมูลทางการเงินที่เสนอต่อสาธารณชนและผู้ถือหุ้น สอบทานระบบการควบคุมภายใน รวมถึงกระบวนการตรวจสอบภายใน และการสื่อสารกับผู้สอบบัญชีของบริษัท

      ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการตรวจสอบมีจํานวน 3 คน โดยมีรายนามดังต่อไปนี้

      ลำดับ ชื่อ - นามสกุล ตำแหน่ง
      1. นางสุภาภรณ์ บุรพกุศลศรี ประธานกรรมการตรวจสอบ
      2. นายชัยยุทธ เตชะทัศนสุนทร กรรมการตรวจสอบ
      3. นายพินิจ หาญพาณิชย์ กรรมการตรวจสอบ

      บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบจองคณะกรรมการตรวจสอบ

      คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของบริษัท ดังต่อไปนี้

      1. สอบทานให้บริษัทมีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเพียงพอ
      2. สอบทานให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน (Internal control) และระบบการตรวจสอบภายใน (Internal audit) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล และพิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ตลอดจนให้ความเห็นชอบในการพิจารณา แต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้างหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
      3. กํากับดูแลการปฏิบัติงานตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของบริษัท
      4. สอบทานให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ข้อกําหนดของตลาดหลักทรัพย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
      5. พิจารณา คัดเลือก เสนอแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระเพื่อทําหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท และเสนอค่าตอบแทน ของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
      6. พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกําหนดของตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท
      7. จัดทํารายงานของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจําปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบและต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
        1. ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัท
        2. ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัท
        3. ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกําหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
        4. ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
        5. ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
        6. จํานวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบแต่ละท่าน
        7. ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตร (charter)
        8. รายการอื่นที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
      8. ทบทวน สอบทาน ประเมินความเพียงพอ และความเหมาะสมของกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบเป็นประจําทุกปี
      9. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการของบริษัทมอบหมายด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ

      คณะกรรมการตรวจสอบต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการของบริษัทตามหน้าที่ที่คณะกรรมการของบริษัทมอบหมายให้ ในขณะที่ความรับผิดชอบสําหรับกิจกรรมทั้งหมดของบริษัทต่อบุคคลภายนอกนั้นยังคงเป็นของคณะกรรมการบริษัททั้งคณะ

    2. คณะกรรมการบริหาร

      คณะกรรมการบริหารได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วย กรรมการที่เป็นผู้บริหารจํานวนหนึ่ง (1) คน และกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารจํานวนสอง (2) คน โดยคัดเลือกจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีความเข้าใจในบทบาท หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบและมีความเข้าใจลักษณะงานการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างดี มีหน้าที่ในการดูแลบริหารจัดการกิจการของบริษัทให้สอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการบริษัท โดยคํานึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทเสมอ

      ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการบริหารประกอบด้วยกรรมการจํานวนสาม (3) คน ดังนี้

      ลำดับ ชื่อ - นามสกุล ตำแหน่ง
      1. นายชาติชาย พานิชชีวะ ประธานกรรมการบริหาร
      2. นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการบริหาร
      3. นายบุญ ชุน เกียรติ กรรมการบริหาร

      บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหาร

      1. ให้คําแนะนําเกี่ยวกับทิศทางกลยุทธ์ โครงสร้างการจัดการ และแผนการดําเนินงานประจําปี และงบประมาณของบริษัท
      2. ดําเนินการจัดการให้การดําเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปตามแผนการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กําหนดไว้
      3. ตรวจสอบผลการดําเนินงาน และการดําเนินงานของบริษัท และบริษัทในกลุ่ม และรายงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบ ทุกเดือน
      4. เสาะหา และประเมินโอกาสใหม่ๆ ในการดําเนินธุรกิจของบริษัท
      5. ตรวจสอบ และให้คําแนะนําเกี่ยวกับเรื่องนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทแก่คณะกรรมการบริษัท
      6. ตรวจสอบ และอนุมัติธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน หรือการขายสินทรัพย์ของบริษัท การจัดการทรัพยากรบุคคล การเงินและการคลัง การบริหารงานทั่วไป และธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินธุรกิจของบริษัทภายใต้ขอบเขตอํานาจ การอนุมัติที่คณะกรรมการบริษัทพิจารณากําหนดไว้
      7. พิจารณาและตรวจสอบการจัดการความเสี่ยง และระบบการควบคุมความเสี่ยงของบริษัท
      8. คณะกรรมการบริหารอาจมอบอํานาจช่วงให้ผู้บริหาร หรือพนักงาน ปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนได้ตามความเหมาะสม โดยที่คณะกรรมการบริหาร หรือผู้รับมอบอํานาจจากคณะกรรมการบริหารจะต้องไม่กระทําการหรืออนุมัติรายการใดๆ ที่ตน หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งกับตน อาจมีส่วนได้เสีย หรืออาจได้รับประโยชน์ในลักษณะใดๆ หรืออาจมีความขัดแย้งทาง ผลประโยชน์อื่นใดกับบริษัท (ตามที่นิยามไว้ในประกาศคณะกรรมการกํากับตลาดทุน หรือประกาศคณะกรรมการกํากับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ทั้งนี้ การอนุมัติรายการดังกล่าว ต้องสอดคล้องกับนโยบาย และหลักการต่างๆ ที่กําหนดโดยคณะกรรมการบริษัท และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
      9. จัดหาที่ปรึกษา หรือบุคคลที่มีความเห็นอิสระเพื่อให้ความเห็นหรือคําแนะนํา ตามความจําเป็น
      10. ร้องขอให้ผู้บริหารหรือพนักงานเข้าประชุมคณะกรรมการบริหาร หรือให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่มีการอภิปรายกันในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร
      11. รายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบถึงกิจการที่คณะกรรมการบริหารดําเนินการภายใต้อํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการ บริหารอย่างสม่ําเสมอ ทั้งนี้ รวมถึงเรื่องอื่นใดที่จําเป็นและสมควรที่จะต้องเสนอให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบ
      12. ตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของตนเป็นประจําทุกปี
      13. ตรวจสอบและประเมินความเพียงพอของกฎบัตรคณะกรรมการบริหาร และเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎบัตร
      14. ดำเนินการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
    3. คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

      คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการบริษัทมีจํานวนทั้งหมดสาม (3) คน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการประกอบด้วย กรรมการอิสระจํานวนสาม (3) คน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลโดยมีหน้าที่สําคัญเพื่อแบ่งเบาภาระของคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้น มีรายนามดังต่อไปนี้

      ลำดับ ชื่อ - นามสกุล ตำแหน่ง
      1. พล.ต.อ. วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
      2. นางสุภาภรณ์ บุรพกุศลศรี กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
      3. นายชัยยุทธ เตชะทัศนสุนทร กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

      บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

      1. พิจารณานโยบายและหลักเกณฑ์ในการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อดํารงตําแหน่งกรรมการบริษัท กรรมการ ผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรวมทั้งคัดเลือกบุคคลและเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อนําเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัท
      2. พิจารณาทบทวนนโยบายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกําหนดค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของกรรมการบริษัท กรรมการ ผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมาย ประสบการณ์ ภาระหน้าที่ ขอบเขตและบทบาทความรับผิดชอบ
      3. กําหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีความหลากหลายทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถและคุณลักษณะเฉพาะด้าน ตลอดจนเพศและอายุที่จําเป็นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลัก โดยการจัดทําตารางองค์ประกอบ ความรู้ความสามารถของกรรมการ เพื่อให้มั่นใจว่าคณะกรรมการมีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถตอบสนองความต้องการ ของผู้มีส่วนได้เสีย
      4. ให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อนําาเสนอค่าตอบแทนกรรมการ กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงของ บริษัทต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และ/หรือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยคณะกรรมการบริษัทจะเป็น ผู้อนุมัติค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของกรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูง สําหรับค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของกรรมการบริษัท ให้คณะกรรมการบริษัทนําเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ
      5. ทบทวน สอบทาน ประเมินความเพียงพอ และความเหมาะสมของกฎบัตรคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นประจําทุกปี
      6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
    4. คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน

      ได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการบริษัท มีจํานวนทั้งหมดสาม (3) คน โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ประกอบด้วย กรรมการอิสระจํานวนสอง (2) คน และกรรมการบริหารจํานวนหนึ่ง (1) คน มีรายนามดังต่อไปนี้

      ลำดับ ชื่อ - นามสกุล ตำแหน่ง
      1. นายชัยยุทธ เตชะทัศนสุนทร ประธานกรรมการกํากับดูแลกิจการ
      2. นางสุภาภรณ์ บุรพกุศลศรี กรรมการกํากับดูแลกิจการ
      3. นายบุญ ชุน เกียรติ กรรมการกํากับดูแลกิจการ

      บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืน

      1. คณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริษัทโดยตรงตามหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย และคณะกรรมการบริษัทยังคงมีความรับผิดชอบในการดําเนินงานของบริษัทต่อบุคคลภายนอก
      2. พิจารณากําหนดแนวทางเสนอแนะแนวนโยบาย / แนวปฏิบัติเกี่ยวกับ จรรยาบรรณและจริยธรรมทางธุรกิจตามหลักการ กํากับดูแลกิจการที่ดี ต่อคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายจัดการ เพื่อกําหนดเป็นระเบียบปฏิบัติขององค์กร ทั้งนี้ เพื่อให้เป็น แนวทางปฏิบัติขององค์กรที่ได้มาตรฐาน และเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
      3. กํากับดูแลการปฏิบัติงานตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท
      4. กํากับดูแลให้คําปรึกษา ประเมินผล และทบทวนนโยบายและการปฏิบัติ ตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ เพื่อพัฒนาและยกระดับ ระบบการกํากับดูแลกิจการของบริษัทสู่มาตรฐานสากล
      5. ทบทวน สอบทาน ประเมินความเพียงพอ และความเหมาะสมของกฎบัตรคณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืน เป็นประจําทุกปี
      6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกํากับดูแลกิจการที่ดี
    5. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

      ได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการบริษัทมีจํานวนทั้งหมดสาม (3) คน โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการ ประกอบด้วย กรรมการอิสระจํานวนสอง (2) คน และกรรมการบริหารจํานวนหนึ่ง (1) คน มีรายนามดังต่อไปนี้

      ลำดับ ชื่อ - นามสกุล ตำแหน่ง
      1. นางสุภาภรณ์ บุรพกุศลศรี ประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
      2. นายชัยยุทธ เตชะทัศนสุนทร กรรมการบริหารความเสี่ยง
      3. นายบุญ ชุน เกียรติ กรรมการบริหารความเสี่ยง

      บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

      1. พิจารณากําหนดนโยบาย แผนการจัดการบริหาร และกํากับดูแลการบริหารความเสี่ยงของบริษัท
      2. พิจารณาและทบทวนแนวทางและเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับลักษณะความเสี่ยงแต่ละด้านของธุรกรรมที่บริษัทดำเนินการ
      3. ติดตามและให้ความสําคัญกับสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าและรายการผิดปกติทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงรายงานผลการดำเนินการบริหารความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริษัท
      4. ให้ข้อเสนอแนะในด้านที่ต้องดําเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกับ นโยบายและกลยุทธ์ของบริษัท
      5. ทบทวน สอบทาน ประเมินความเพียงพอ และความเหมาะสมของกฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นประจําทุกปี
      6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง
  4. การประชุมคณะกรรมการ
    1. คณะกรรมการบริษัทมีการกําหนดการประชุมล่วงหน้าอย่างน้อยไตรมาสละครั้งต่อปีและมีการประชุมพิเศษเพิ่มตามความจําเป็นและเหมาะสม โดยแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน และการประชุมทุกครั้งจะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสาม (2/3) ของจํานวนกรรมการทั้งหมดจึงจะครบเป็นองค์ประชุมชั้นต่ำ หรือ เป็นไปตามประกาศ หรือ กฎบัตรของแต่ละคณะในส่วนของการประชุมคณะกรรมการบริษัทนั้น กําหนดให้องค์ประชุมในขณะลงมติต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่าสองในสาม (2/3) ของจํานวนกรรมการทั้งหมด
    2. มีการกําาหนดความชัดเจนไว้ล่วงหน้า โดยกรรมการผู้จัดการ โดยการหารือร่วมกับประธานคณะกรรมการบริษัท จะร่วมกันพิจารณากําหนดวาระการประชุมเป็นการล่วงหน้า ทั้งนี้ เลขานุการบริษัทมีหน้าที่ดูแลให้กรรมการได้รับเอกสารการประชุม ล่วงหน้าก่อนการประชุมเป็นเวลา 7 วัน เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสําหรับการศึกษาและพิจารณาเรื่องเพื่อการให้ความเห็นและการออกเสียงลงคะแนน
    3. คณะกรรมการบริษัทได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ครบถ้วน ต่อเนื่องและทันเวลาก่อนการประชุมทุกครั้ง ทั้งนี้ กรรมการบริษัท สามารถติดต่อเลขานุการบริษัทได้โดยตรงอย่างอิสระ เลขานุการบริษัทมีหน้าที่ให้คําปรึกษาแก่คณะกรรมการบริษัทในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ
    4. กรรมการผู้จัดการมีหน้าที่จัดสรรเวลาให้อย่างเพียงพอที่ฝ่ายจัดการจะเสนอเอกสารข้อมูลเพื่อการอภิปรายและเพียงพอสําหรับคณะกรรมการที่จะอภิปรายในประเด็นสําคัญ เปิดโอกาสและสนับสนุนให้กรรมการแต่ละคนแสดงความคิดเห็นก่อน สรุปความเห็นที่ได้จากที่ประชุม
    5. คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายให้กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารมีโอกาสที่จะประชุมระหว่างกันเองตามความจําเป็นเพื่ออภิปรายปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการที่อยู่ในความสนใจ โดยไม่มีฝ่ายจัดการร่วมด้วยและควรแจ้งให้กรรมการผู้จัดการ ทราบถึงผลการประชุมด้วย
    6. คณะกรรมการบริษัทสนับสนุนให้กรรมการผู้จัดการเชิญผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้ สารสนเทศรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรง และเพื่อมีโอกาสทําความรู้จักผู้บริหารระดับสูงสําหรับใช้ประกอบการพิจารณาแผนการสืบทอดงาน
    7. ในการพิจารณาระเบียบวาระต่างๆ กรรมการซึ่งมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาจะไม่มีสิทธิออกเสียงและต้องไม่อยู่ในที่ประชุมในวาระดังกล่าว
    8. การประชุมทุกครั้ง ต้องมีการจดบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร และจัดเก็บรายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองจาก คณะกรรมการบริษัท พร้อมให้คณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้

    รายงานการเข้าร่วมประชุมของกรรมการสำหรับคณะกรรมการชุดต่างๆ

    ปี 2565 มีการประชุมของคณะกรรมการชุดต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

    รายชื่อ คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
      จำนวนครั้ง อัตราการเข้าร่วม (%) จำนวนครั้ง อัตราการเข้าร่วม (%) จำนวนครั้ง อัตราการเข้าร่วม (%) จำนวนครั้ง อัตราการเข้าร่วม (%) จำนวนครั้ง อัตราการเข้าร่วม (%) จำนวนครั้ง อัตราการเข้าร่วม (%)
    1. นายชาติชาย พานิชชีวะ 6/6 100% - - 12/12 100% - - - - - -
    2. นางสมหะทัย พานิชชีวะ 6/6 100% - - 12/12 100% - - - - - -
    3. นายบุญ ชุน เกียรติ 6/6 100% - - 12/12 100% - - 2/2 100% 2/2 100%
    4. นางสุภาภรณ์ บุรพกุศลศรี 6/6 100% 4/4 100% - - 2/2 100% 2/2 100% 2/2 100%
    5. นายชัยยุทธ เตชะทัศนสุนทร 6/6 100% 4/4 100% - - 2/2 100% 2/2 100% 2/2 100%
    6. พล.ต.อ. วิสนุ ปราสาททองโอสถ 6/6 100% - - - - 2/2 100% - - - -
    7. นายพินิจ หาญพาณิชย์ 6/6 100% 4/4 100% - - - - - - - -

    หมายเหตุ: -

    การประชุมระหว่างกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร

    คณะกรรมการบริษัทกําหนดนโยบายให้กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารมีโอกาสได้ประชุมระหว่างกันเองเพื่ออภิปรายปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการที่อยู่ในความสนใจ เช่น คณะกรรมการอิสระมีความเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการ, มีความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย, สามารถให้ความเห็นได้อย่างอิสระโดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ, จํานวนคณะกรรมการอิสระเป็นไปตามสัดส่วนที่สํานักงาน ก.ล.ต. ประกาศกําหนด, กระบวนการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทนของกรรมการบริษัทเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนากรรมการที่ ควรมีการจัดอบรมอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น โดยการประชุมไม่มีฝ่ายจัดการร่วมด้วย และแจ้งให้คณะกรรมการและกรรมการ ผู้จัดการได้รับทราบผลการประชุมดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ปี 2565 ได้มีการประชุมระหว่างกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร จํานวน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565

    การวางแผนกลยุทธ์ของบริษัทและการนําไปปฏิบัติ

    ในการประชุมคณะกรรมการบริษัททุกปี คณะกรรมการจะร่วมกันพิจารณาทบทวน วิสัยทัศน์ ภารกิจและกลยุทธ์ประจําปี รวมทั้งวางแผนกลยุทธ์ล่วงหน้า และภายหลังจากนั้นคณะกรรมการจะติดตามดูแลให้ฝ่ายจัดการดําเนินการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก และแผนกลยุทธ์ รวมถึงดําเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยฝ่ายจัดการจะรายงานแผนงานดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทรับทราบเป็นประจําทุกไตรมาส โดยกําหนดไว้เป็นวาระเรื่อง รับทราบผลการดําเนินงาน รายงานความคืบหน้าการดําเนินธุรกิจ และยังได้กําหนดให้มีวาระ เรื่องทบทวนแผนกลยุทธ์ เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท จะได้รับทราบข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะในเรื่องที่เห็นว่าฝ่ายจัดการควรปรับปรุงแก้ไขต่อไป

  5. การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูง
    1. การสรรหากรรมการอิสระ

      บริษัทได้กําหนดนิยามของบุคคลที่จะมาดํารงตําแหน่งเป็นกรรมการอิสระโดยพิจารณาจากคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศของคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศคณะกรรมการตลาดทุน รวมถึงประกาศข้อบังคับและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จํานวนกรรมการอิสระต้องมีอย่างน้อยหนึ่งในสามของจํานวนกรรมการทั้งหมดและไม่น้อยกว่าสาม (3) คน

      คุณสมบัติของกรรมการอิสระ มีรายละเอียดดังนี้

      1. ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 1 ของจํานวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัท ทั้งนี้ ให้นับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องของกรรมการอิสระรายนั้นๆ ด้วย
      2. ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจํา หรือผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลําดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัท เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสอง (2) ปี ก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการอิสระ ทั้งนี้ ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวไม่รวมถึงกรณีที่กรรมการอิสระเคยเป็นข้าราชการ หรือที่ปรึกษาของส่วนราชการซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัท
      3. ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมายในลักษณะที่เป็นบิดา มารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของกรรมการรายอื่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอํานาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นกรรมการ ผู้บริหารหรือผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัทหรือบริษัทย่อย
      4. ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัทในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตนรวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย หรือผู้มีอํานาจควบคุมของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัท เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการอิสระ
      5. ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมถึงการทํารายการทางการค้าที่กระทําเป็นปกติเพื่อประกอบกิจการ การเช่าหรือให้เช่า อสังหาริมทรัพย์ รายการเกี่ยวกับสินทรัพย์หรือบริการ หรือการให้หรือรับความช่วยเหลือทางการเงิน ด้วยการรับหรือให้กู้ยืม ค้ำประกัน การให้สินทรัพย์เป็นหลักประกันหนี้สิน รวมถึงพฤติการณ์อื่นทํานองเดียวกัน ซึ่งเป็นผลให้บริษัท หรือคู่สัญญามีภาระหนี้ที่ต้องชําระต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่ร้อยละ 3 ของสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของบริษัท หรือตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป แล้วแต่จํานวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ การคํานวณภาระหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามวิธีการคํานวณมูลค่าของรายการที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศคณะกรรมการกํากับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการทํารายการที่เกี่ยวโยงกันโดยอนุโลม แต่ในการพิจารณาภาระหนี้ดังกล่าว ให้นับรวมภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่าง 1 ปีก่อนวันที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบุคคลเดียวกัน
      6. ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัท และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอํานาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของสํานักงานสอบบัญชี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีของ บริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัทสังกัดอยู่ เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการอิสระ
      7. ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใดๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่า 2 ล้านบาทต่อปีจากบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัท และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอํานาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้นด้วย เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการอิสระ
      8. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่
      9. ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัทหรือบริษัทย่อย หรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัยในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจํา หรือถือหุ้นเกินร้อยละ 1 ของจํานวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่น ซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อย
      10. ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทําให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดําเนินงานของบริษัท
    2. การสรรหากรรมการตรวจสอบ

      การสรรหากรรมการตรวจสอบจะพิจารณาคุณสมบัติโดยคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน และนําเสนอ ต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งองค์ประกอบการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ มีรายละเอียดดังนี้

      1. คณะกรรมการตรวจสอบจะประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นกรรมการอิสระอย่างน้อยสาม (3) คน
      2. สมาชิกของคณะกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยหนึ่ง (1) คน ต้องมีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทําหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้

      คุณสมบัติของสมาชิกคณะกรรมการตรวจสอบ มีรายละเอียดดังนี้

      1. เป็นกรรมการอิสระที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามคํานิยามของกรรมการอิสระที่กําหนดโดยประกาศคณะกรรมการกํากับตลาดทุน
      2. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ตัดสินใจในการดําเนินกิจการของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลําดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัท
      3. ไม่เป็นกรรมการของบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทย่อยลําดับเดียวกัน เฉพาะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน
      4. มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทําหน้าที่ในฐานะกรรมการตรวจสอบ

      ทั้งนี้ วาระการดํารงตําแหน่งของกรรมการตรวจสอบจะมีกําหนด 3 ปี นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อสิ้นสุดวาระการดำรงตําแหน่ง สมาชิกของคณะกรรมการตรวจสอบอาจได้รับการแต่งตั้งให้เข้าดํารงตําแหน่งใหม่อีกได้ตามที่คณะกรรมการ ของบริษัทอาจเห็นสมควร แต่ทั้งนี้ กรรมการอิสระจะมีวาระการดํารงตําแหน่งต่อเนื่องไม่เกิน 9 ปี นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระครั้งแรก

    3. การสรรหากรรมการบริษัท

      การสรรหาคณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาคุณสมบัติโดยคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนจะร่วมกันพิจารณานําเสนอบุคคลที่เหมาะสมซึ่งส่วนหนึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติ เสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการบริษัท และ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งองค์ประกอบการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการ บริษัท มีรายละเอียดดังนี้

      1. คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการอย่างน้อยห้า (5) คน และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (1/2) ของจํานวน กรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
      2. คณะกรรมการบริษัทต้องประกอบด้วยกรรมการอิสระอย่างน้อยสาม (3) คน และกรรมการไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม (1/3) ของจํานวนกรรมการทั้งหมดต้องเป็นกรรมการอิสระ

      อนึ่ง การสรรหากรรมการบริษัทรวมถึงกรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการยังให้ความสําคัญในการวิเคราะห์ทักษะที่มี อยู่ของคณะกรรมการชุดปัจจุบันและทักษะที่จําเป็นที่บริษัทต้องการ (Skill Matrix) เพื่อสรรหากรรมการบริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

      โครงสร้างของคณะกรรมการ ประกอบด้วย ทักษะของกรรมการในแต่ละด้านที่มีความจําเป็นต่อการทําหน้าที่ เครื่องมือที่นํามาใช้ คือ การทํา “Board skill matrix" ซึ่งเป็น checklist ที่ชี้ให้เห็นว่า ณ ปัจจุบัน ทักษะของกรรมการมีครบถ้วนแล้วหรือยัง และถ้าจะต้องสรรหากรรมการหรือผู้นําบริษัทเพิ่มเติมหรือทดแทนก็สามารถกําหนดเป้าหมายได้ชัดเจนว่าต้องการกรรมการในทักษะใดที่ยังขาดอยู่ อีกทั้ง ยังสามารถนําไปใช้กําหนดเป็นแผนการอบรมและพัฒนาของกรรมการได้อีกด้วย

      คุณสมบัติของกรรมการบริษัท มีรายละเอียดดังนี้

      1. กรรมการทุกคนต้องมีคุณสมบัติตามที่กําหนดไว้ในกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนมีคุณสมบัติตามที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท
      2. ต้องสําเร็จการศึกษาอย่างน้อยชั้นปริญญาตรีในสาขาใดก็ได้
      3. เป็นผู้มีความรู้ในกิจการของบริษัทและสามารถอุทิศเวลาได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนใช้ความรู้ความสามารถที่มีเพื่อประโยชน์ของบริษัท
      4. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรมสูง
      5. กรรมการต้องไม่ดํารงตําแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทที่จดทะเบียนอื่นๆ เกินกว่า 5 บริษัท ในกรณีที่กรรมการคนใดคนหนึ่งมีตําแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทที่จดทะเบียนอื่นๆ เกินกว่า 5 บริษัท คณะกรรมการจะพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการท่านดังกล่าว และรายงานเหตุผลในการแต่งตั้งกรรมการดังกล่าวไว้ในรายงานการปฏิบัติตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งปรากฏตามแบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี (แบบ 56-1) One Report

      ในการประชุมสามัญประจําปีผู้ถือหุ้นทุกครั้ง ให้กรรมการจํานวนหนึ่งในสามของกรรมการทั้งหมดออกจากตําแหน่ง หากไม่สามารถแบ่งจํานวนกรรมการทั้งหมดออกเป็นสามส่วนเท่ากันได้ ให้กรรมการที่ออกมีจํานวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม กรรมการที่ออกตามวาระนั้นอาจถูกเลือกกลับเข้ามาดํารงตําแหน่งอีกก็ได้ นอกจากการพ้นตําแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการพ้นจากตําแหน่งเมื่อ

      1. เสียชีวิต
      2. ลาออก (โดยมีผลตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับจดหมายลาออก)
      3. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบ และประกาศที่ออกตามความของกฎหมายหรือตามข้อบังคับบริษัท
      4. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้ออก
      5. ศาลมีคําสั่งให้ออก
    4. การสรรหากรรมการบริหาร

      การสรรหากรรมการบริหารจะพิจารณาคุณสมบัติโดยคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน และนําเสนอให้คณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติการแต่งตั้ง ซึ่งคณะกรรมการบริหารทําหน้าที่ในการบริหารกิจการให้เป็นไปตามนโยบาย ข้อ บังคับ หลักเกณฑ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพิจารณา กลั่นกรองเรื่องต่างๆ ก่อนนําเสนอต่อคณะกรรมการ ตลอดจน ติดตามการดำเนินนโยบายและแนวทางการบริหารงานต่างๆ ของบริษัทให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

    5. การสรรหาผู้บริหารระดับสูง

      การสรรหาผู้บริหารระดับสูงได้แก่ กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูง คณะกรรมการสรรหาและพิจารณา ค่าตอบแทนจะเป็นผู้พิจารณาถึงคุณสมบัติที่ครบถ้วน เหมาะสม มีความรู้ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ที่เป็น ประโยชน์ต่อการดําเนินงานของบริษัท และนําเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ

    6. การสรรหาคณะกรรมการชุดย่อย

      คณะกรรมการบริษัทมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืน และคณะกรรมการบริหาร ความเสี่ยง เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเรื่องและนําเสนอผลให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาและรับทราบ ซึ่งคณะกรรมการชุดย่อยมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กําหนด

      ภาวะผู้นําและวิสัยทัศน์

      คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กําหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบาย รวมถึงเป็นผู้กํากับดูแลกิจการของบริษัทให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กําหนดไว้ อันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่บริษัทและผู้ถือหุ้น โดยคํานึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย มีความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็น และการตัดสินใจไม่แสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือแก่ผู้หนึ่งผู้ใดไม่ดําเนินการใดๆ ที่เป็นการขัดแย้ง หรือเป็นการแข่งขันกับผลประโยชน์ของบริษัทหรือบริษัทย่อย คณะกรรมการบริษัทได้กําหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืน และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ไว้อย่างชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ ยังจัดให้มีกลไกในการกํากับดูแลและติดตามการปฏิบัติงานและการควบคุมฝ่ายบริหารในช่วงเวลาที่จําเป็นและเหมาะสม คณะกรรมการบริษัทให้ความสําคัญต่อรายงานทางการเงินที่ต้องสะท้อนให้เห็นถึงผลการดําเนินงานอย่างแท้จริง มีการประเมิน กําหนดและวางมาตรฐานในการบริหาร ป้องกัน และจัดการความเสี่ยง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้หลักการถ่วงดุลอํานาจ และสามารถตรวจสอบได้ โดยคณะกรรมการบริษัทมีความมุ่งมั่นในการพัฒนา เพื่อให้ธุรกิจของบริษัท มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างเหมาะสม

  6. การแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ

    บริษัทมีการกําหนดและแยกอํานาจของคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายจัดการในระดับต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน โดยในการพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องที่สําคัญๆจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อถ่วงดุลและสอบทานให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

    อนึ่ง อํานาจอนุมัติการท่ารายการที่สําคัญต่างๆ คณะกรรมการได้พิจารณาทบทวนอํานาจอนุมัติในการประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 เพื่อให้บริษัทมีการดําเนินการตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ อํานาจอนุมัติรายการสําคัญในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย (1) งานบริหารองค์กร (2) งานงบประมาณ (3) งานจัดซื้อจัดจ้าง (4) งานโครงการเพื่อขาย (5) งานบุคคล (6) งานธุรการ (7) งานด้านการตลาด (8) งานบัญชีและการเงิน (9) งานด้านกฎหมาย โดยแบ่งอํานาจอนุมัติการทํารายการตามสายบังคับบัญชา อาทิ ระดับคณะกรรมการ, ระดับคณะกรรมการบริหาร, ระดับประธานกรรมการ ระดับกรรมการผู้จัดการ เป็นต้น

  7. การรวมหรือแยกตําแหน่ง

    บริษัทมีนโยบายในการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของประธานกรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการ โดยจะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์และคุณสมบัติที่เหมาะสม และต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกันเพื่อให้มีการถ่วงดุลอํานาจโดยการแยกหน้าที่การกํากับดูแลและบริหารงานออกจากกัน

    ประธานกรรมการบริษัท

    ไม่เป็นผู้บริหาร รวมทั้งไม่เป็นบุคคลเดียวกับกรรมการผู้จัดการ โดยประธานกรรมการบริษัทมีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร มีการแบ่งแยกหน้าที่ในการกําหนดนโยบายการกํากับดูแลและการบริหารงานประจําออกจากกันอย่างชัดเจน ประธานกรรมการ ริษัท มีหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นผู้กําหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบายที่สําคัญให้ฝ่ายบริหารนําไปปฏิบัติ โดยกรรมการบริษัททุกคนมีความเป็นอิสระในการเสนอวาระการประชุม การแสดงความคิดเห็นต่อการดําเนินงานของบริษัทในด้านต่างๆ รวมถึงพิจารณาอย่างรอบคอบในเรื่องที่อาจขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อให้มีความถูกต้อง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ หลักการกํากับดูแลกิจการที่ดีกําหนดให้ประธานกรรมการควรเป็นกรรมการอิสระ แต่ถึงแม้ประธานกรรมการของบริษัทไม่ได้ดํารงตําแหน่งกรรมการอิสระแต่ประธานกรรมการบริษัทมีบทบาทความเป็นผู้นําของคณะกรรมการอย่างเต็มที่ อีกทั้งบริษัทจึงพิจารณาแต่งตั้งให้มีกรรมการอิสระเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี (CG Code)

    บทบาทอํานาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของประธานกรรมการบริษัท

    1. ดูแลภาพรวมในด้านกลยุทธ์และนโยบายของบริษัทเพื่อเป็นแนวทางในการดําเนินธุรกิจ
    2. ทําหน้าที่ประธานในที่ประชุมและเข้าร่วมการประชุมทุกครั้ง เพื่อให้การดําเนินการประชุมคณะกรรมการบริษัทมี ประสิทธิภาพ รวมถึงกระตุ้นให้กรรมการทุกท่านแสดงความคิดเห็น และดูแลให้กรรมการทุกท่านได้รับข้อมูลของบริษัทที่ถูกต้อง ตรงเวลา และชัดเจน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและ/หรืออนุมัติในวาระต่างๆ ของการประชุม
    3. ดูแลการสื่อสารระหว่างบริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัทให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถติดต่อสื่อสารกับคณะกรรมการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน
    4. ทําหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง และมีการมอบหมายให้มีผู้ดูแลการประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งดูแลให้กรรมการทุกท่านเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างเต็มที่ในการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้น การซักถามหรือขอคำชี้แจงเพิ่มเติม
    5. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ดูแลโครงสร้างของคณะกรรมการให้มีความเหมาะสม ดูแลให้มีการนํานโยบายและการตัดสินใจของคณะกรรมการไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล
    6. สนับสนุนการดําเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการกํากับดูแลกิจการ (Corporate Governance) และนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่กรรมการ ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงาน
    7. สนับสนุนส่งเสริมให้กรรมการทุกท่านทํางานร่วมกันอย่างเป็นทีม อันจะก่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทํางาน ดูแลให้มีการประเมินผลการปฏิบัติของคณะกรรมการ ทั้งแบบประเมินตนเองแบบประเมินไขว้ และแบบประเมินกลุ่ม นําผลการประเมินดังกล่าวมาปรับปรุงและพัฒนาการทํางานของคณะกรรมการ
    8. สนับสนุนส่งเสริมให้กรรมการทุกท่านเข้าร่วมอบรมพัฒนาทักษะ ความรู้ในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่กรรมการในสถาบันที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับ เช่น สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

    กรรมการผู้จัดการ

    ไม่ได้เป็นบุคคลเดียวกับประธานกรรมการบริษัท แต่ถือเป็นผู้บริหารระดับสูงในส่วนของฝ่ายจัดการ โดยทําหน้าที่ในการดําเนินกิจการ และ/หรือการบริหารงานประจําวันของบริษัทตามแนวทางที่คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร กําหนดพิจารณาธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดําเนินงานตามปกติของบริษัท

    บทบาทอํานาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการ

    1. กําหนดภารกิจ วัตถุประสงค์ แนวทาง และเป้าหมายการดําเนินธุรกิจของบริษัทเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ และดําเนินการเพื่อให้เป็นไปตามภารกิจ วัตถุประสงค์ แนวทาง และเป้าหมายการดําเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าวด้วย รวมถึงการสั่งการและกํากับดูแลการดําเนินงานโดยรวม
    2. มีอํานาจพิจารณาว่าจ้างพนักงานและบรรจุแต่งตั้ง ตลอดจนการโอน โยกย้ายสายงาน/แผนก หรือการพ้นจากการเป็น พนักงาน กําหนดอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน เงินโบนัส รวมถึงสวัสดิการเกี่ยวกับพนักงานทั้งหมดของบริษัท
    3. พิจารณาและดําเนินการให้มีการปฏิบัติตามคําสั่ง ระเบียบ ประกาศ บันทึก เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามภารกิจ วัตถุประสงค์ แนวทาง และเป้าหมายการดําเนินธุรกิจของบริษัท และเพื่อรักษาระเบียบวินัยการทํางานภายในองค์กร
    4. ดําเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานทั่วไปของบริษัท
    5. ให้มีอํานาจในการมอบอํานาจช่วง และ/หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนได้ โดยการมอบอํานาจช่วง และ/หรือการมอบหมายดังกล่าวให้อยู่ภายใต้ขอบเขตแห่งการมอบอํานาจตามหนังสือมอบอํานาจ และ/หรือให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อกําหนด หรือคําสั่งที่คณะกรรมการของบริษัท และ/หรือบริษัทได้กําหนดไว้

    ทั้งนี้ อํานาจตลอดจนการมอบอํานาจแก่บุคคลอื่นที่เห็นสมควร จะไม่รวมถึงอํานาจ และ/หรือการมอบอํานาจในการอนุมัติรายการใดที่ตนหรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง มีส่วนได้เสีย หรือผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดขัดแย้งกับบริษัทหรือบริษัทย่อยตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งการอนุมัติรายการในลักษณะดังกล่าวจะต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการและ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาและอนุมัติรายการดังกล่าวตามที่ข้อบังคับของบริษัทหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกําหนด

  8. แผนการสืบทอดตําาแหน่งผู้บริหารระดับสูง

    คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสําคัญกับการสืบทอดตําแหน่งในระดับผู้บริหารระดับสูงทุกตําแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตําแหน่งที่เป็นผู้นําองค์กร คือ กรรมการผู้จัดการในบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน องค์กร ตลอดจนพนักงานว่าการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับการสานต่ออย่างทันท่วงที

    ดังนั้น คณะกรรมการบริหารได้ร่วมกันกําหนดหลักเกณฑ์และแผนการสืบทอดตําแหน่ง (Succession Plan) โดยสรรหาบุคลากรภายในองค์กรที่มีศักยภาพสูง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมทางด้านคุณวุฒิ คือ มีความรู้และประสบการณ์ สามารถ สร้างผลงานที่ดีเลิศให้องค์กร มีทัศนคติและพฤติกรรมที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งมีความเหมาะสมด้านวัยวุฒิที่ พร้อมจะดํารงตําแหน่งที่ว่างลง รวมทั้งมีการจัดทําแผนพัฒนารายบุคคล เพื่อเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมสําหรับตําแหน่งผู้บริหารระดับสูง

  9. การประเมินตนเองของกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย

    บริษัท ชีวาทัย จํากัด (มหาชน) กําหนดหลักเกณฑ์ให้คณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อยประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นประจําทุกปี เพื่อให้คณะกรรมการร่วมกันพิจารณาผลงานและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยกําหนดเกณฑ์การประเมินเปรียบเทียบกับผลปฏิบัติงานอย่างเป็นมาตรฐานและสอดคล้องกับหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี

    การประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นแบบรายคณะและรายบุคคล โดยวิธีประเมินด้วยตนเอง (self-evaluation) เลขานุการบริษัท เป็นผู้นําส่งแบบประเมินให้แก่คณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อให้กรรมการพิจารณาผลงานของตนเอง ปรับปรุง แก้ไข และนําส่งแบบประเมินกลับมายังเลขานุการบริษัท เพื่อรวบรวมผลและสรุปผลการประเมินในรอบปีเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท รวมถึงเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เป็นไปตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี

    เกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงาน คิดเป็นร้อยละจากคะแนนเต็มในแต่ละหมวด ดังนี้

    คะแนนมากกว่าร้อยละ 80 มีการดําเนินการในเรื่องนั้นอย่างดีเยี่ยม
    คะแนนอยู่ในช่วงร้อยละ 71-80 มีการดําเนินการในเรื่องนั้นดี
    คะแนนอยู่ในช่วงร้อยละ 61-70 มีการดําเนินการในเรื่องนั้นพอสมควร
    คะแนนอยู่ในช่วงต่ำกว่าร้อยละ 60 มีการดำเนินการในเรื่องนั้นต่ำกว่ามาตรฐาน

    ทั้งนี้ ปี 2565 ผลประเมินคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย มีดังต่อไปนี้

    1. การประเมินตนเองของกรรมการบริษัท แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

      ประเภทที่ 1 แบบประเมินตนเองสําหรับคณะกรรมการ แบ่งการประเมินออกเป็น 6 หมวดโดยผลการประเมินประจําปี 2565 สรุปได้ดังนี้

      1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      2. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      3. การประชุมคณะกรรมการมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      4. พลวัติในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      5. ความสัมพันธ์กับฝ่ายจัดการมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      6. การพัฒนากรรมการมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ

      ระดับคะแนนที่ได้ร้อยละ 98.46 อยู่ในระดับมีการดําเนินการในเรื่องนั้นอย่างดีเยี่ยม

      ประเภทที่ 2 แบบประเมินตนเองสําหรับกรรมการรายบุคคล แบ่งการประเมินออกเป็น 5 หมวดโดยผลการประเมินประจําปี 2565 สรุปได้ดังนี้

      1. คุณสมบัติส่วนบุคคลมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      2. ความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่มีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      3. การมีส่วนร่วมในการประชุมมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      4. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      5. ความสัมพันธ์กับคณะกรรมการและฝ่ายจัดการมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ

      ระดับคะแนนที่ได้ร้อยละ 99.31 อยู่ในระดับมีการดําเนินการในเรื่องนั้นอย่างดีเยี่ยม

      ประเภทที่ 3 แบบประเมินตนเองสําหรับคณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืน แบ่งการประเมินออกเป็น 4 หมวด โดยผลการประเมินประจําปี 2565 สรุปได้ดังนี้

      1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืนมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      2. การประชุมคณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืนมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืนมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      4. การรายงานของคณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืนมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ

      ระดับคะแนนที่ได้ร้อยละ 99.84 อยู่ในระดับมีการดําเนินการในเรื่องนั้นอย่างดีเยี่ยม

      ประเภทที่ 4 แบบประเมินตนเองสําหรับคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง แบ่งการประเมินออกเป็น 4 หมวดโดยผลการประเมินประจําปี 2565 สรุปได้ดังนี้

      1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      2. การประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะ กรรมการมีประสิทธิภาพ
      4. การรายงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ

      ระดับคะแนนที่ได้ร้อยละ 98.67 อยู่ในระดับมีการดําเนินการในเรื่องนั้นอย่างดีเยี่ยม

      ประเภทที่ 5 แบบประเมินตนเองสําหรับคณะกรรมการตรวจสอบ แบ่งการประเมินออกเป็น 4 หมวดโดยผลการประเมินประจําปี 2565 สรุปได้ดังนี้

      1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจสอบมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      2. การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      4. การรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ

      ระดับคะแนนที่ได้ร้อยละ 99.84 อยู่ในระดับมีการดําเนินการในเรื่องนั้นอย่างดีเยี่ยม

      ประเภทที่ 6 แบบประเมินตนเองสําหรับคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน แบ่งการประเมินออกเป็น 4 หมวด โดยผลการประเมินประจําปี 2565 สรุปได้ดังนี้

      1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      2. การประชุมคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      4. การรายงานของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ

      ระดับคะแนนที่ได้ร้อยละ 99.14 อยู่ในระดับมีการดําเนินการในเรื่องนั้นอย่างดีเยี่ยม

      ประเภทที่ 7 แบบประเมินตนเองสําหรับคณะกรรมการบริหาร แบ่งการประเมินออกเป็น 4 หมวดโดยผลการประเมินประจําปี 2565 สรุปได้ดังนี้

      1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการบริหารมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      2. การประชุมคณะกรรมการบริหารมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ
      4. การรายงานของคณะกรรมการบริหารมีความเหมาะสม ทําให้การทํางานของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ

      ระดับคะแนนที่ได้ร้อยละ 99.44 อยู่ในระดับมีการดําเนินการในเรื่องนั้นอย่างดีเยี่ยม

      ทั้งนี้ ขั้นตอนการประเมินเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 เลขานุการบริษัททําหน้าที่จัดส่งแบบประเมินให้กรรมการแต่ละคนประเมินตนเองโดยอิสระ โดยเลขานุการบริษัททําการรวบรวมแบบประเมินผล เพื่อจัดทํารายงานสรุป ประมวลผลการประเมิน และนําเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งถัดไป อนึ่ง ผลการประเมินตนเองของคณะกรรมการบริษัท ปี 2565 ได้นําเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้คณะกรรมการรับทราบและสามารถนําผลการประเมินไปพัฒนาประสิทธิภาพการทําหน้าที่ของคณะกรรมการ

    2. การประเมินกรรมการผู้จัดการ

      คณะกรรมการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทน ได้ให้คณะกรรมการบริษัททําการประเมินกรรมการผู้จัดการโดยประเมินในด้านต่างๆ คือ ความเป็นผู้นํา การกําหนดกลยุทธ์ การปฏิบัติตามกลยุทธ์ การวางแผน และผลปฏิบัติทางการเงิน ความสัมพันธ์กับคณะกรรมการ ความสัมพันธ์กับภายนอก การบริหารงานและความสัมพันธ์กับบุคลากรการสืบทอดตําแหน่งความรู้ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ คุณลักษณะส่วนตัว โดยเป็นการปรับปรุงจากตัวอย่างแบบประเมินผลงานของ CEO ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อนึ่ง ผลการดําเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่บริษัทใช้เป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลงาน ของกรรมการผู้จัดการผลการดําเนินงานด้านเศรษฐกิจสอดคล้องตามเป้าหมายของบริษัท ผลการดําเนินงานด้านสังคมและ สิ่งแวดล้อม อาทิ ความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ของบริษัท เป็นต้น

      ทั้งนี้ ในการประเมินกรรมการผู้จัดการนั้น ผลการประเมินจะเป็นส่วนหนึ่งของการกําหนดค่าตอบแทนของกรรมการผู้จัดการในแต่ละปีด้วย

  10. ค่าตอบแทน

    คณะกรรมการบริษัทกําหนดให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเป็นผู้พิจารณาเสนอแนวทางในการกําหนดค่าตอบแทนกรรมการ และจะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยกําหนดเป็นนโยบายประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้

    1. ผลประกอบการของบริษัทและขนาดธุรกิจ โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนกรรมการของบริษัทจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในประเภทและขนาดธุรกิจใกล้เคียงกัน
    2. ประสบการณ์ บทบาท ภาระหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบของกรรมการแต่ละท่าน
    3. ประโยชน์ที่คาดว่าบริษัทจะได้รับจากกรรมการแต่ละท่าน
    4. ค่าตอบแทนที่กําหนดขึ้นนั้นจะต้องสามารถจูงใจกรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับความจําเป็นและสถานการณ์ของบริษัทมาเป็นกรรมการหรือผู้บริหารได้
  11. การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร

    คณะกรรมการบริษัทให้ความสําคัญการพัฒนากรรมการ โดยสนับสนุนให้กรรมการบริษัทเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ หรือ เข้าร่วมการสัมมนาหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการศึกษา/การอบรมว่า จะเป็นการพัฒนากรรมการให้ได้ความรู้ที่ทันต่อสถานการณ์ทางธุรกิจที่มีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา และมีนโยบายพัฒนาศักยภาพ บุคลากรที่เป็นผู้บริหาร โดยการจัดฝึกอบรมทั้งภายในและภายนอกบริษัท เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมา กรรมการบริษัทได้เข้าร่วมรับการอบรมหลักสูตรกรรมการของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตามที่สํานักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กําหนดให้กรรมการของบริษัทจดทะเบียนต้องผ่านการอบรมอย่างน้อยหนึ่งหลักสูตร ได้แก่ Director Accreditation Program (DAP) และ Director Certification Program (DCP) นอกจากหลักสูตรพื้นฐานสําหรับกรรมการบริษัทดังกล่าวแล้ว กรรมการยังให้ความสําคัญในการเข้ารับการอบรมหลักสูตรอื่นของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ อาทิ หลักสูตรพัฒนาต่อเนื่องสําหรับกรรมการและกรรมการชุดย่อย เพื่อพัฒนาบทบาทหน้าที่ของตนบนพื้นฐานของการกํากับดูแลกิจการที่ดี และเพื่อต่อยอดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุดย่อย รวมถึงหลักสูตรสําหรับเลขานุการบริษัท หลักสูตรสําหรับฝ่ายบริหาร และผู้ทําหน้าที่สนับสนุนการทํางานของคณะกรรมการ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการกํากับดูแลกิจการให้ครอบคลุมทั้งในระดับกรรมการ เลขานุการบริษัท และฝ่ายบริหาร โดยมีรายละเอียดดังนี้

    ลำดับ รายชื่อ หลักสูตรที่ได้รับการอบรม
    1. นายชาติชาย พานิชชีวะ Director Accreditation Program (DAP) class 9/2547
    2. นางสมหะทัย พานิชชีวะ Director Accreditation Program (DAP) class 104/2551
    3. นายบุญ ชุน เกียรติ Director Certification Program (DCP) class 155/2555
    4. นางสุภาภรณ์ บุรพกุศลศรี • Director Accreditation Program (DAP) class 87/2554
    • Role of the Compensation Committee Program (RCC) class 13/2554
    • Director Certification Program (DCP) class 172/2556
    • Advance Audit Committee Program (AACP) class 23/2559
    5. นายชัยยุทธ เตชะทัศนสุนทร Director Accreditation Program (DAP) class 119/2558
    6. พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ • Director Accreditation Program (DAP) class 11/2547
    • Audit Committee and Continuing Development Program (ACP) class 7/ 2548
    • Finance for Non-Finance Director (FN) class 19/2548
    • Corporate Governance for Capital Market intermediaries (CGI) class 3/2558
    • Advance Audit Committee Program (AACP) class 20/2558
    7. นายพินิจ หาญพาณิชย์ Director Accreditation Program (DAP)
    8. นางสาวชนิสรา ยิ่งนอก • Corporate Governance for Executives (CGE) class 15/2562
    • Role of the Company Secretary in shaping Corporate Culture” (R-CSF) class 1/2562
    • Effective Minute Taking (EMT) class 37/2560
    • Anti-Corruption the Practical Guide (ACPG) class 35/2560
    • Company Reporting Program (CRP) class 16/2559
    • Company Secretary Program (CSP) class 75/2559
    • Advances for Corporate Secretaries class 2/2559
    • Fundamentals for Corporate Secretaries class 2/2559

    ปี 2565 คณะกรรมการบริษัทได้เข้าร่วมอบรมและสัมมนาในหลักสูตรต่างๆ จากสถาบันที่มีมาตรฐาน ได้รับความเชื่อถือและความนิยมในระดับสากล อาทิ Ernst & Young, PwC และ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์กรที่เสริมสร้างและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี รวมถึงสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) องค์กรที่มีบทบาทสําคัญในการพัฒนากรรมการ และส่งเสริมให้เกิดการกํากับดูแลกิจการที่ดีในระดับประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้

    ลำดับ รายชื่อ หลักสูตรที่ได้รับการอบรม
    1. นายชาติชาย พานิชชีวะ Corporate Governance Program for Insurance Companies (CIC Online) CIC 2/2022 (IOD)
    2. นางสมหะทัย พานิชชีวะ Global Summit of Women
    3. นางสุภาภรณ์ บุรพกุศลศรี

    สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TFAC)

    1. อบรมสัมนาความรู้ เรื่อง จรรยาบรรณของผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชี พร้อมกรณีศึกษา : เฉพาะสำนักงานสอบบัญชี
    2. ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีรุ่นที่ 1/65
    3. เจาะลึก NPAEs ด้านรายได้และสินทรัพย์พร้อมรับหลักเกณฑ์และสิทธิ ประโยชน์ด้านภาษี
    4. โครงการอบรมจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเฉพาะผู้สอบบัญชี รับอนุญาต รุ่นที่ 1
    5. การอบรมมาตรฐานรายงานทางการเงิน บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด
    6. กฎหมายควบรวมใหม่ : โอกาสและรูปแบบใหม่ของการควบรวมกิจการ
    7. ความท้าทายเรื่องการกำหนดราคาโอน (Transfer pricing) หลังโควิด-19 ความเข้มข้นในการตรวจสอบของภาครัฐ และการเตรียมความพร้อมในภาคธุรกิจ
    8. สรุปประเด็นสำคัญ การปรับปรุงร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ
    9. ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกจากโรคระบาด สงคราม พลังงาน และ เงินเฟ้อ ภาคธุรกิจควรปรับกลยุทธ์อย่างไร เพื่อให้ทันโลก รอดพ้นภัยวิกฤตและเติบโตอย่างยั่งยืน
    10. Initial Coin Offering (ICO) from the Accounting and Tax Perspectives
    11. มาตรฐานรายงานทางการเงิน

    สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย

    1. Company Secretary Forum 2022 “Challenges in building trust in the boardroom”
    2. Chairman Forum 1/2022 “Chairing the unknown future”
    3. Director’s Briefing APEC 2022 “Open. Connect. Balance.” : Outcomes and Challenges for te future of Thai Business
    4. Director’s Briefing “ESG as a vehicle for business transformation”
    5. National Director Conference 2022 Wisdom for Future: Harmonizing the Diverse Boards Session 5: Reimagine your next S-Curve: Technology & Innovation, Business transformation and Sustainability
    6. Director’s Briefing Share & Learn Together What is business transformation actually
    7. Independent director forum 1/2022 Navigate Board’s Challenges in defining governance vs. Management Role
    8. Director’s Briefing “What director should know about quantum?”
    9. บทบาทของกรรมการบริษัทภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดย IOD ร่วมกับ คปภ. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
    10. Easy listening เกร็ดความรู้ด้านบัญชีที่ AC ไม่ควรพลาด EP1-2
    11. Inclusive leadership means better business
    12. Digital Asset กับโอกาสเติบโตทางธุรกิจ (New S Curve) ของบริษัทจดทะเบียน
    13. สรุปสาระสำคัญของมาตรฐานรายงานทางการเงิน TFRS ที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีผลบังคับใช้ ปี 2566

    อื่นๆ

    1. เจาะลึก NPAEs ด้านรายได้และสินทรัพย์พร้อมรับหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์ด้านภาษี โดย กรมสรรพากร
    2. การบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์ไม่มีตัวตน โดย บริษัท ดีบีเอ็มที จำกัด
    3. รู้ทันการทุจริตในองค์กรพร้อมวิธีป้องกัน โดย บริษัท ดีบีเอ็มที จำกัด
    4. นายชัยยุทธ เตชะทัศนสุนทร งานสัมมนาสำหรับคณะกรรมการ หัวข้อ “what directors need to know about digital assets?” (SET)
    5. นายพินิจ หาญพาณิชย์ งานสัมนา หัวข้อ Easy listening เกร็ดความรู้ด้านบัญชีที่ AC ไม่ควรพลาด EP.2 (SEC)
    6. พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ งานสัมมนาสำหรับคณะกรรมการ หัวข้อ “what directors need to know about digital assets?” (SET)
    7. นายบุญ ชุน เกียรติ Director’s briefing “Derisking the CEO transition” (IOD)

    หมายเหตุ: รายละเอียดการพัฒนาผู้บริหารในฐานะเป็นพนักงานของบริษัท รายละเอียดจะปรากฏอยูในหัวข้อ “นโยบายในการพัฒนาบุคลากร”

  12. ปฐมนิเทศกรรมการใหม่

    เมื่อคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนได้พิจารณาบุคคลที่เห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นกรรมการ และได้นําเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาเห็นชอบแล้ว เมื่อจะนําเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาแต่งตั้ง บริษัทได้ดําเนินการแจ้งข้อมูลที่จําเป็นและสําคัญต่อกรรมการใหม่ให้รับทราบตามขั้นตอนดังนี้

    1. ขณะที่เรียนเชิญเข้ารับตําแหน่งกรรมการ

      เมื่อคณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้เรียนเชิญบุคคลที่เข้าเป็นกรรมการ เลขานุการบริษัทนําเสนอข้อมูลเพื่อให้บุคคลที่ได้รับทาบทามเป็นกรรมการได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจรับเป็นกรรมการ ดังนี้

      1. ประวัติบริษัท ประกอบด้วย วันเริ่มจัดตั้งบริษัท หนังสือบริคณห์สนธิ ข้อบังคับบริษัท ทุนจดทะเบียน จํานวนหุ้นสามัญ รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่
      2. ลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัท ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ลักษณะธุรกิจหลัก ประเภทผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า ที่ตั้งสถานประกอบการ
      3. โครงสร้างกลุ่มบริษัท โครงสร้างองค์กร โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ โครงสร้างคณะกรรมการ
      4. ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของกรรมการ
      5. ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานอย่างน้อย 1 ปีย้อนหลัง
      6. หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย กฎบัตรคณะกรรมการบริษัท กฎบัตรคณะกรรมการชุดย่อย (หากจำเป็น)
    2. กรรมการใหม่ได้รับการแต่งตั้งเข้าดํารงตําแหน่ง บริษัทจะจัดเตรียมข้อมูลเพื่อให้กรรมการใหม่ได้ทําความเข้าใจการดําเนิน ธุรกิจ และ เพื่อเตรียมความพร้อมในการดําเนินการยื่นเอกสารหลักฐานให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกําหนด ดังนี้
      1. เรื่องที่บริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย การซื้อขายหุ้นของบริษัทและการรายงาน การมีส่วนได้เสียของตนเอง ญาติสนิท ผู้ที่เกี่ยวข้อง
      2. รายชื่อคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อย
      3. รายงานการประชุมคณะกรรมการและกําหนดการประชุมย้อนหลัง 1 ปี
      4. นโยบายบายบริษัทที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายการกํากับดูแลกิจการ นโยบายการใช้ข้อมูลภายใน Code of Conduct เป็นต้น

    ทั้งนี้ ปี 2565 บริษัทไม่มีการจัดปฐมนิเทศกรรมการใหม่

  13. ประวัติการกระทําผิดกฎหมายของบริษัท กรรมการบริษัทและผู้บริหาร

    ในช่วงรอบปีที่ผ่านมาและในปี 2565 บริษัทไม่มีกรณีของการกระทําที่เป็นการขัดต่อกฎ ระเบียบ กฎหมายต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นกฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน หรือกฎหมายต่างๆ อาทิ การที่บริษัทไม่ส่งงบการเงินตามกําหนด ไม่มีรายการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทอื่นที่ไม่ใช่บริษัทย่อย บริษัทไม่มีชื่อเสียงในทางลบ อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย บริษัทไม่มีกรณีที่กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารลาออกอันเนื่องมาจากประเด็นเรื่องการกํากับดูแลกิจการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทไม่มีกรณีที่มีการกระทําที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายด้านแรงงาน การจ้างงาน กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า หรือถูกดําเนินการใดๆ อันเนื่องมาจากการที่บริษัทไม่ได้ประกาศข้อมูลที่เป็นเหตุการณ์สําคัญภายในระยะเวลาที่หน่วยงานของราชการกําหนด

    อนึ่ง กรรมการบริษัทและผู้บริหารของบริษัทไม่มีการกระทําที่เป็นการขัดต่อกฎ ระเบียบ กฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน หรือกฎหมายต่างๆ ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา รวมทั้งไม่มีการกระทําที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ นอกจากนี้ กรรมการบริษัทและผู้บริหารของบริษัท ไม่มีการกระทําดังต่อไปนี้

    1. ไม่มีการกระทําที่เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน
    2. ไม่มีการกระทําผิดต้านการทุจริตหรือการกระทําผิดด้านจริยธรรม
  14. การรายงานการถือหลักทรัพย์ของกรรมการและผู้บริหาร

    บริษัทได้กําหนดให้กรรมการและผู้บริหารมีหน้าที่รายงานการถือหลักทรัพย์และรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ภายในสาม (3) วันทําการนับจากวันที่ซื้อ ขาย โอนหรือรับโอนต่อสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ในช่วง 1 เดือนก่อนที่เผยแพร่งบการเงินต่อสาธารณชนนอกจากนั้น บริษัทมีนโยบายว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทจะต้องมีการรายงานการถือหลักทรัพย์ของกรรมการบริษัทซึ่งนับรวมถึงการถือหุ้นของคู่สมรส และผู้บริหาร 4 รายแรก นับต่อจาก กรรมการผู้จัดการ โดยรวมถึงผู้จัดการฝ่ายบัญชีและผู้จัดการฝ่ายการเงิน

  15. การรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหาร

    เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 89/14 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และประกาศคณะกรรมการกํากับตลาดทุนที่ ทจ. 2/2552 เรื่องการรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการ ผู้บริหารและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกําหนดให้กรรมการและผู้บริหารต้องรายงานให้บริษัททราบถึงการมีส่วนได้เสียของตน หรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนได้เสียของตน หรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง บริษัทจึงได้ปฏิบัติตามนโยบายว่าด้วยการรายงานการมีส่วนได้เสีย

    1. ด้านการรายงาน

      กําหนดให้กรรมการและผู้บริหาร ซึ่งหมายถึง กรรมการผู้จัดการ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และ ผู้ดํารงตําแหน่งระดับบริหารสี่ (4) รายแรก นับต่อจากกรรมการผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดํารงตําแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดํารงตําแหน่ง ระดับบริหารรายที่ 4 ทุกราย รวมถึงผู้ดํารงตําแหน่งระดับบริหารสูงสุดในสายงานบัญชีหรือการเงิน รายงานให้บริษัทได้รับทราบถึงการมีส่วนได้เสียของตนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

    2. วิธีการรายงาน

      จัดทํารายงานและส่งให้เลขานุการบริษัท รวมตลอดถึงในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้จัดทํารายงานส่งให้เลขานุการ บริษัททุกครั้งภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ได้รายงานไป

    3. การรายงานคณะกรรมการบริษัท

      เลขานุการบริษัทจะต้องรายงานการมีส่วนได้เสียให้คณะกรรมการบริษัททราบในการประชุมคณะกรรมการบริษัทประจําไตรมาส

  16. การปฏิบัติตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดีในเรื่องอื่นๆ

    บริษัทได้ให้ความสําคัญกับการกํากับดูแลกิจการที่ดี โดยบริษัทเห็นว่าหลักการดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์กับบริษัทในการพัฒนาองค์กร ทั้งนี้บริษัทได้นําหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดีสําหรับบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาปฏิบัติ

    นโยบายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา

    บริษัทมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่กระทําการใดๆ ที่จะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า โดยบริษัทมีแนวทางในการดําเนินการที่ชัดเจน เช่น ทางด้านลิขสิทธิ์ บริษัทมีการกําหนดนโยบายในการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทโดยมีการตรวจสอบการใช้งานระบบโปรแกรมซอฟต์แวร์ต่างๆ ในการทํางานของพนักงานเพื่อป้องกันการใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทํางาน เป็นต้น

    นโยบายทางด้านสิทธิมนุษยชน

    บริษัทตระหนักและให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมกันของบุคคล โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงานของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทคู่ค้าทุกคนด้วยความเหมือนหรือความแตกต่าง เนื่องจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ เพศ อายุ พื้นฐานการศึกษา หรือภาวะทางร่างกายและจิตใจ รวมตลอดถึงไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลทั้งโดยทางตรง และทางอ้อม ทั้งนี้ พนักงานของบริษัทต้องปฏิบัติต่อกันและปฏิบัติต่อบุคคลอื่นด้วยความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมทั้งปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมกับหน้าที่การงานตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท

    ความขัดแย้งทางผลประโยชน์

    คณะกรรมการบริษัทได้มีการกําหนดแนวทางในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยปฏิบัติตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท และถือเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกระดับที่จะพิจารณาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางประโยชน์อย่างรอบคอบยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุมีผลและเป็นอิสระภายในกรอบจริยธรรมที่ดี ตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท โดยรวมเป็นสําคัญ

    การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน

    บริษัทมีนโยบายป้องกันการใช้ข้อมูลภายในและกํากับดูแลกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รวมถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับตนเอง ดังต่อไปนี้ (1) คู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา (2) บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (3) นิติบุคคลซึ่งตนเอง บุคคลตาม (1) และ (2) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 30 ของจํานวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด ซึ่งได้รับทราบข้อมูลของบริษัท ดังต่อไปนี้

    1. ให้ความรู้แก่กรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงผู้ดํารงตําแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า เกี่ยวกับหน้าที่ที่ต้องจัดทําและส่งรายงานการถือหลักทรัพย์ของตนเองและบุคคลที่มีความสัมพันธ์ กับตนเอง ต่อสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สํานักงาน ก.ล.ต.”) ตามมาตรา 59 และ บทกําหนดโทษตามมาตรา 275 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 และ ประกาศสํานักงานคณะกรรมการกํากับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สจ. 38/2561 เรื่อง การจัดทํารายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญา ซื้อขายล่วงหน้าของกรรมการ ผู้บริหาร ผู้สอบบัญชี ผู้ทําแผน และผู้บริหารแผน ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
    2. กําหนดให้กรรมการและผู้บริหาร รวมถึงผู้ดํารงตําแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับรองผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการขึ้นไปหรือเทียบเท่า จัดทําและนําส่งรายงานการถือหลักทรัพย์ของตน ของคู่สมรส และของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะส่งผ่านมายังเลขานุการของบริษัท ก่อนนําส่งสํานักงาน ก.ล.ต. ทุกครั้ง โดยให้จัดทําและนําส่งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ ภายใน 3 วันทําการนับแต่วันที่มีการซื้อ ขายโอน หรือรับโอนหลักทรัพย์นั้น รวมถึงการจัดทําบันทึกการเปลี่ยนแปลงและสรุปจํานวนหลักทรัพย์ ของคณะกรรมการเป็นรายบุคคล เพื่อนําเสนอให้แก่คณะกรรมการบริษัททราบในการประชุม คณะกรรมการบริษัท อนึ่ง ในกรณีที่กรรมการและผู้บริหารระดับสูงประสงค์ที่จะซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ ของบริษัท บริษัทได้กําหนดให้บุคคลดังกล่าวดําเนินการแจ้งความประสงค์ว่าจะดําเนินการดังกล่าว ต่อเลขานุการบริษัทอย่างน้อย 1 วันก่อนดำเนินการดังกล่าว
    3. กําหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงผู้ดํารงตําแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้น ไปหรือเทียบเท่า และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสําคัญ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคา หลักทรัพย์ จะต้องระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วงเวลาก่อนที่จะเผยแพร่งบการเงินหรือเผยแพร่เกี่ยวกับฐานะการเงินและสถานะของบริษัท จนกว่าบริษัทจะได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนแล้ว โดยบริษัทจะแจ้งให้กรรมการและผู้บริหาร รวมถึงผู้ดํารงตําแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า งดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้าก่อนการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน และควรรอคอยอย่างน้อย 24 ชั่วโมงภายหลังการเปิดเผยข้อมูลให้แก่สาธารณชนแล้ว รวมทั้งห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็น สาระสําคัญนั้นต่อบุคคลอื่น
    4. กําหนดบทลงโทษทางวินัยหากมีการฝ่าฝืนนําข้อมูลภายในไปใช้หาประโยชน์ส่วนตนซึ่งเริ่มตั้งแต่การตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดค่าจ้าง พักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือให้ออกจากงาน ซึ่งการลงโทษจะพิจารณาจากเจตนาของการกระทําและ ความร้ายแรงของความผิดนั้น ๆ

    ปี 2565 เลขานุการบริษัทจัดทําประกาศ เรื่อง การควบคุมการใช้ข้อมูลภายใน และ การงดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท แจ้งกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ทั้งนี้ คณะกรรมการ ผู้บริหารได้มีการปฏิบัติตามหลักการอย่างเคร่งครัด จึงไม่มีการฝ่าฝืนเกณฑ์การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในแต่อย่างใด รวมถึงการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์เป็นไปตามหลักเกณฑ์เช่นกัน

    อนึ่ง เลขานุการบริษัทได้จัดทําประกาศ เรื่อง การรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของบริษัท เพื่อให้กรรมการและผู้บริหารปฏิบัติตามแนวทางที่สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กําหนด ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ผู้รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์จะจัดส่งสําเนารายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ต่อเลขานุการบริษัท เพื่อรายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบในการประชุมครั้งถัดไป

    กรณีที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรายงาน กรณีการได้หุ้นจากโครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง (Employee Joint Investment Program : EJIP) ซึ่งเป็นโครงการสําหรับกรรมการหรือพนักงานบริษัท ในลักษณะให้ผลตอบแทนแก่บุคคลดังกล่าว เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน

    การรักษาข้อมูลส่วนบุคคล

    บริษัทกําหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ เก็บรวบรวม การใช้และงานเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า (Customer) คู่ค้า (Supplier) พนักงาน (Employee) และผู้เกี่ยวข้อง ( Visitor or All concerned) กับธุรกิจของบริษัท รวมถึงผู้ใช้บริการที่เข้าถึงข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท ให้ได้รับการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นความลับ และใช้งานข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่เจ้าของข้อมูลยินยอม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

    1. บริษัทให้ความเคารพสิทธิส่วนบุคคลของลูกค้า คู่ค้า ของพนักงานและของผู้เกี่ยวข้องอย่างสูงสุด
    2. บริษัทจะขอข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะเท่าที่จําเป็นในการบริหารงาน หรือ ตามที่กฎหมายกําหนด และจะขอจากเจ้าของข้อมูลโดยตรง
    3. บริษัทจะแจ้งวัตถุประสงค์การเก็บ การใช้ข้อมูลและแจ้งสิทธิให้เจ้าของข้อมูลทราบและยินยอมแต่แรก
    4. บริษัทจัดให้มีระบบการเก็บ การใช้ การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลอย่างรัดกุม ปกปิดเป็นความลับ
    5. บริษัทจัดให้มีผู้ประมวลผล เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลมีการใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่นําไปใช้เกินกว่าการยินยอม หรือไม่ทําให้เกิดความเสียหายใดๆ กับเจ้าของข้อมูล
    6. ข้อมูลที่มีการควบคุมเฉพาะ เช่น ข้อมูลด้านชาติพันธ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิศาสนา การเจ็บป่วย ประวัติอาชญากรรม หากจําเป็นต้องใช้ บริษัทจะขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลโดยชัดแจ้งและใช้อย่างระมัดระวังเป็น ความลับ
    7. เจ้าของข้อมูล มีสิทธิในการเข้าถึง ตรวจสอบ ถอนความยินยอมข้อมูลนั้นได้ง่ายตลอดเวลาที่มีการเก็บรักษา
    8. เจ้าของข้อมูลที่เป็นชาวต่างชาติ ต่างด้าว จะเก็บและใช้ข้อมูลเช่นเดียวกับข้อมูลคนไทย
    9. การส่งข้อมูลส่วนบุคคลไปหน่วยงานภายนอก หรือ ต่างประเทศ บริษัทฯ จะปฏิบัติตามกฎหมายกําหนดอย่างเคร่งครัด
    10. ข้อมูลส่วนบุคคลที่บริษัทเก็บและใช้งาน บริษัทจะรักษาเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทเอง ห้ามมิให้ผู้ใดละเมิด เปิดเผย เข้าถึง นําไปหาประโยชน์ส่วนตัว หรือทําลายข้อมูลนี้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้ควบคุมข้อมูล ผู้ฝ่าฝืนจะถูกพิจารณาลงโทษในอัตราสูงสุด จะดําเนินคดีถึงที่สุด รวมถึงต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นเต็มจํานวนตามอัตราที่กฎหมายกําหนด

    ค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี

    บริษัทจ่ายค่าตอบแทนการตรวจสอบงบการเงิน สําหรับงวดบัญชีปี 2565 ของบริษัทให้แก่บริษัท สํานักงาน อีวาย จํากัด มีรายละเอียดดังนี้

    ค่าตอบแทนการสอบบัญชี 2565 2564 2563 2562 2561
    ค่าตอบแทน (บาท) 1,550,000 1,550,000 1,620,000 1,620,000 1,550,000

    บริษัทไม่มีการจ่ายค่าบริการอื่น (non-audit fee) ให้แก่ผู้สอบบัญชีในปี 2565

    ทั้งนี้ บริษัท สํานักงาน อีวาย จํากัด และผู้สอบบัญชีไม่เป็นกรรมการบริษัท พนักงาน ลูกจ้าง หรือดํารงตําแหน่งหน้าที่ใดๆ ของบริษัท ตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติบริษัท มหาชน จํากัด พ.ศ. 2535 รวมตลอดถึงไม่มีความสัมพันธ์ และไม่มีส่วนได้เสียกับบริษัท บริษัทย่อย ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว โดยผู้สอบบัญชีมีความเป็นอิสระและเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนั้น บริษัทไม่ได้ใช้บริการทางวิชาชีพด้านอื่นๆ จากบริษัท สํานักงาน อีวาย จํากัด

    อนึ่ง ในทํานองเดียวกันกรรมการบริษัทและผู้บริหารของบริษัทไม่เคยเป็นพนักงานหรือหุ้นส่วนหรือมีความเกี่ยวข้องใดๆในบริษัท สํานักงาน อีวาย จํากัด ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

    ค่าบริการอื่น (Non - Audit Fee)

    - ไม่มี -

    การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่สําคัญของนโยบายแนวปฏิบัติ และระบบการกํากับดูแลกิจการในรอบปีที่ผ่านมา

    บริษัทให้ความสําคัญกับการนํานโยบาย และแนวปฏิบัติต่างๆมาใช้ จึงได้มีการทบทวน ปรับปรุงนโยบาย แนวปฏิบัติและ กฎบัตรคณะกรรมการ อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกํากับดูแลและแสดงให้เห็นว่ามีการ ยกระดับมาตรฐานการกํากับดูแลกิจการของบริษัท ที่สอดคล้องกับหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี โดยมีนโยบายที่สําคัญที่ทบทวนดังนี้

    • นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
    • นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
    • จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัท
    • จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์
    • นโยบายการใช้ข้อมูลภายในและการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท
    • นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน
    • นโยบายการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
    • นโยบายการบริหารความเสี่ยง
    • กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ
    • กฎบัตรคณะกรรมการบริษัท
    • กฎบัตรคณะกรรมการกํากับดูแลกิจการและความยั่งยืน
    • กฎบัตรคณะกรรมการบริหาร
    • กฎบัตรคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
    • กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

    ในปี 2565 ทางบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ในเรื่องของระบบการตรวจสอบภายในของบริษัท โดยได้มีการพิจารณา เลิกจ้าง บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จํากัด ในการตรวจสอบระบบภายในของบริษัท เปลี่ยนมาเป็น ฝ่ายตรวจสอบภายใน ของบริษัท ทําหน้าที่ตรวจสอบเองแบบเต็มรูปแบบ โดยได้มี คุณสภารัตน์ งามทรัพย์ทวีคูณ ทําหน้าที่หัวฝ่ายตรวจสอบภายใน และกํากับดูแล ซึ่งจะทําให้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุง และพัฒนาขั้นตอนการทํางานภายในบริษัทให้ดียิ่งขึ้น

ดาวน์โหลดนโยบายการกำกับดูแลกิจการ