นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) มีอุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี และจรรณยาบรรณทางธุรกิจตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ของบริษัทฯ และในปี 2561 บริษัทได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกของ “แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่นของภาคเอกชนไทย (CAC) ” เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทมีนโยบายกำหนดความรับผิดชอบแนวปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ

เพื่อให้การตัดสินใจและการดำเนินการทางธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นได้รับการพิจารณาและปฏิบัติอย่างรอบคอบบริษัทฯจึงได้จัดทำ “นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน

คำนิยามตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

ทุจริต (Corrupt) ) หมายถึง การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยหน้าที่หรือด้วยกฎหมายของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ทั้งของบริษัท ของลูกค้า และ ของคู่ค้า หรือคู่สัญญาของบริษัท อาทิ การทำหลักฐานการเงินเป็นเท็จ การนำทรัพย์สินของบริษัทไปใช้ส่วนตัว การเบียดบัง การยักยอก ฉ้อโกง การกระทำในลักษณะที่มีการขัดกันของผลประโยชน์ ฯลฯ

คอร์รัปชั่น (Corruption) หมายถึง การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ โดยการเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ มอบให้ ให้คำมั่นว่าจะให้ เรียกร้อง หรือรับ ซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสม กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือแนะนำธุรกิจให้กับบริษัทโดยเฉพาะ หรือ เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้

การให้และรับของขวัญ / การบริการต้อนรับและการเลี้ยงรับรอง (Gift and Hospitality) หมายถึง การมอบเงิน บัตรกำนัล สิ่งมีค่า สินค้า และบริการ ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยตรงหรือเป็นการขายในราคาพิเศษ นอกจากนี้ยังรวมถึงการมอบสิ่งของให้ตามมารยาทที่ปฏิบัติในสังคม หรือภายใต้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น เช่น ของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเกิด ของขวัญในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ เป็นต้น

การบริจาค (Donations) หมายถึง การให้เพื่อวัตถุประสงค์การกุศลและ/หรือเพื่อสงเคราะห์เหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง การบริจาคมีได้หลายรูปแบบ รวมถึงการเสนอเงินสด บริการ สินค้าใหม่หรือใช้แล้ว เช่น เสื้อผ้า ของเล่น อาหารและยานพาหนะ การบริจาคอาจประกอบด้วยของฉุกเฉิน บรรเทาทุกข์หรือช่วยเหลือทางมนุษยธรรม หรือการสนับสนุนการช่วยเหลือพัฒนา

การให้ความช่วยเหลือทางการเมือง (Political Contributions) หมายถึง การให้การสนับสนุนนักการเมือง หรือพรรคการเมืองทั้งด้านการเงินหรือรูปแบบอื่น การให้ยืมหรือบริจาคอุปกรณ์ การให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการ รวมทั้งการโฆษณาส่งเสริมหรือสนับสนุนพรรคการเมือง และการส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในนามของบริษัท เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางธุรกิจ

การให้ความสนับสนุน (Sponsorship) หมายถึง การให้เงิน สิ่งมีค่า หรือบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงการสนับสนุนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ การส่งเสริมตราผลิตภัณฑ์หรือชื่อเสียงของบริษัท อันเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความน่าเชื่อถือทางการค้า ช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

การขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) หมายถึง สถานการณ์หรือการกระทำที่คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานขององค์กร ที่มีผลประโยชน์ส่วนตัวที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจ หรือการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่บุคคลนั้นรับผิดชอบอยู่และส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเกิดขึ้นอย่างรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ทั้งเจตนาหรือไม่เจตนาซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย จนกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปโดยไม่เห็นว่าเป็นความผิด จนส่งผลให้บุคคลนั้นขาดการตัดสินใจที่เที่ยงธรรม

การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก (Facilitation Payment) หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นการให้เพื่อมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการตามกระบวนการ หรือ เป็นการกระตุ้นให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้นโดยกระบวนการนั้นไม่ต้องอาศัยดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้น รวมทั้งเป็นสิทธิที่บริษัทพึงจะได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การขอใบอนุญาต การขอหนังสือรับรอง เป็นต้น

การจ้างพนักงานรัฐ (Revolving Door) หมายถึง การจ้างบุคลากรที่เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ, นักการเมือง, ที่ปรึกษาของหน่วยงานรัฐ มาทำงานให้กับบริษัท และอาจอาศัยความสัมพันธ์หรือข้อมูลภายในเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท หรือ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ของการปฏิบัติหน้าที่ โดยผลของการกระทำนั้นมุ่งหวังให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม หรือการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นทำได้

นโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น

ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ดำเนินการหรือยอมรับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อน และคนรู้จัก โดยครอบคลุมถึงทุกธุรกิจในทุกประเทศและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย

หน้าที่ความรับผิดชอบ

  1. คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
  2. คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำกับดูแลการดำเนินงานตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น การควบคุมภายใน การตรวจสอบภายในและการบริหารความเสี่ยงให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความรัดกุมเหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
  3. ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบและให้การส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดของกฎหมาย
  4. ฝ่ายตรวจสอบภายในมีหน้าที่และรับผิดชอบในการตรวจสอบการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตามนโยบาย อำนาจดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติ ข้อกำหนด และกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
แนวทางการปฏิบัติ

  1. กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ ทุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต คอร์รัปชั่น ในทุกรูปแบบไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อน และ คนรู้จัก โดยเด็ดขาด
  2. กรรมการบริษัทและบุคลากรทุกระดับของบริษัทฯต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริต คอร์รัปชั่น โดยถือเป็นหน้าที่ที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบได้ทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ
  3. บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานหรือบุคคลอื่นใดที่แจ้งเบาะแสหรือหลักฐานเรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ รวมถึงพนักงานที่ปฏิเสธ ต่อการกระทำ โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริต คอร์รัปชั่น และจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
  4. บริษัทฯสนับสนุนการเสริมสร้างให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯมีความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ มีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือ ในการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
  5. ผู้ที่มีส่วนร่วมในการทุจริต คอร์รัปชั่น หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัทฯ และอาจได้รับโทษตามกฏหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
การจัดซื้อจัดจ้าง

บริษัทฯ มีนโยบายให้การจัดซื้อและการจัดจ้างงาน ที่ต้องมีการระบุวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อจัดจ้างอย่างชัดเจนและนําเสนอผู้มีอํานาจอนุมัติตามขั้นตอนของบริษัทฯ การจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าสูงต้องมีการเปรียบเทียบราคาจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการหลายรายเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย อีกทั้งยังมีคณะกรรมการจัดจ้างเพื่อกลั่นกรองอย่างรอบคอบ บริษัทฯไม่มีนโยบายเรียกหรือรับผลประโยชน์ทางการเงินหรือผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการ เพื่อที่จะรับสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงตามเงื่อนไขข้อตกลงหรือมีคุณลักษณะไม่ตรงตามใบสั่งซื้อหรือคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน

การให้และรับของขวัญ การบริการต้อนรับและการเลี้ยงรับรอง

กรรมการบริษัทและบุคลากรทุกระดับของบริษัทฯ ต้องหลีกเลี่ยงการรับของขวัญ ของกำนัล หรือเงินสนับสนุนจากลูกค้า หรือคู่ค้าของบริษัทที่มีมูลค่าเกินกว่า 5,000 บาท หากมีความจำเป็นต้องรับ หรือได้มาซึ่งของขวัญ ของกำนัลที่มีมูลค่าเกินกว่าที่กำหนดจะต้องรายงานให้บริษัททราบและนำส่งให้กับบริษัทต่อไป

การให้ของขวัญ ของกำนัล การบริการต้อนรับ การเลี้ยงรับรองและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องมีความเหมาะสมตามสถานการณ์ ตามระเบียบแบบแผน ประเพณีนิยม ซึ่งมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยต้องมีมูลค่าไม่เกินกว่า 5,000 บาทต่อครั้ง และต้องเป็นการให้ในนามของบริษัทเท่านั้น ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องให้เกินกว่ามูลค่าที่กำหนดไว้ให้ขออนุมัติจากผู้มีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในคู่มืออำนาจอนุมัติ

การบริจาคเพื่อการกุศล

การบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ และการสนับสนุนเพื่อวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมต้อง เป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อศีลธรรมและไม่ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน

ความขัดแย้งทางผลประโยชน์

กรรมการบริษัทและบุคลากรทุกระดับของบริษัทฯจะต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และจะถูกคาดหวังว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความน่าเชื่อถือ และทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และจะต้องไม่ดำเนินการใดๆที่ก่อให้เกิดการขัดแย้งทางผลประโยชน์ และจะต้องเปิดเผยความสัมพันธ์หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่สามารถอาจถือได้ว่าเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทฯทันที

การให้การช่วยเหลือทางการเมือง

บริษัทฯยึดมั่นในความเป็นกลางทางการเมือง และไม่มีนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำการอนุมัติธุรกรรมที่ทำให้เกิดการสนับสนุนทางการเมือง ผู้มีอำนาจอนุมัติธุรกรรมตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทไม่สามารถที่จะอนุมัติธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือทางการเมืองได้

การให้ความสนับสนุน

การให้ความสนับสนุน ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ภาพลักษณ์ ชื่อเสียงที่ดีของบริษัท ซึ่งต้องเป็นการให้ในนามของบริษัทเท่านั้น และต้องหลีกเลี่ยงการให้ความสนับสนุนที่มีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นการจ่ายเงินสำหรับการบริการหรือผลประโยชน์ที่ยากต่อการวัดผลและติดตาม ซึ่งอาจถูกเชื่อมโยงไปเกี่ยวข้องกับการให้สินบน เพื่อก่อให้เกิดความได้เปรียบโดยมิชอบ

การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก

บริษัทไม่มีนโยบายจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกในรูปแบบใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจะไม่ดำเนินการใด ๆ และไม่ยอมรับการกระทำใดๆ เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

การจ้างพนักงานรัฐ

บริษัทมีกระบวนการตรวจสอบประวัติ (Due Diligence) ของบุคคลที่บริษัทจะสรรหาเพื่อแต่งตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ ที่ปรึกษา หรือผู้บริหารของบริษัท เพื่อตรวจสอบสิ่งที่อาจเป็นประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ก่อนแต่งตั้ง และเพื่อเพิ่มความโปร่งใสของการแต่งตั้ง บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลรายนามและประวัติของบุคคลที่เคยเป็นหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งมาเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา หรือผู้บริหารของบริษัท พร้อมทั้งระบุเหตุผลการแต่งตั้งบุคคลเหล่านั้นในเอกสารเผยแพร่ของบริษัท

การแจ้งข้อมูลหรือเบาะแส (Whistle Blowing Policy)

บริษัทฯ ได้จัดให้มีช่องทางการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแส ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การรับเรื่องร้องเรียน การตรวจสอบข้อเท็จจริง และการสรุปผล รวมถึงการคุ้มครองผู้แจ้งเรื่องและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับเรื่องร้องเรียน จากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ และพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้โดย

การแจ้งข้อมูลหรือเบาะแส (Whistle Blowing Policy)บริษัท มีการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร บุคลากรทุกระดับของบริษัทฯ และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯได้รับทราบว่า ทางบริษัทได้เข้าเป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มีการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ผ่านรายงานประจำปี (Annual Report), Intranet, Email และ Website ของบริษัทฯ หรือวิธีการอื่น ๆ ตามความเหมาะสมเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ และบริษัทในเครือมีการดำเนินงานที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้การประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงรับผิดชอบการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ในการดำเนินงานของบริษัทฯโดยระบุปัจจัยเสี่ยง โอกาสเกิดและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งมาตรการป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว โดยจัดทําเป็นรายงานเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบเป็นประจําทุกปีการตรวจสอบและการควบคุมภายในบริษัทฯ ได้จัดให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระและรายงานโดยตรงให้กับคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทําหน้าที่ประเมินระบบการควบคุมภายใน และกระบวนการกำกับดูแลการปฏิบัติงานต่างๆ ของบริษัทฯ ว่ามีความเพียงพอ เหมาะสม และมีประสิทธิภาพตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ รวมทั้งมีการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ข้อบังคับตามกฎหมายหรือของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
1) ทางไปรษณีย์ : คณะกรรมการตรวจสอบ
บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน)
1168/80 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ ชั้น 27 ยูนิตดี
ถนนพระรามสี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร
กรุงเทพมหานคร 10120
2) ทางอีเมล์ : auditcommittee@chewathai.com
ช่องทางการร้องเรียน หรือ การแจ้งเบาะแส
1) ทางไปรษณีย์ : คณะกรรมการตรวจสอบ
บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน)
1168/80 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ ชั้น 27 ยูนิตดี
ถนนพระรามสี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร
กรุงเทพมหานคร 10120
2) ทางอีเมล์ : auditcommittee@chewathai.com
3) ทางโทรศัพท์ : 1260 กด 4
นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น