บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่เหนือความพึงพอใจให้ลูกค้าและสร้างความมั่งคั่งสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility :CSR) การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development :SD) ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้กรอบ ESG (Environmental, Social, Governance) โดยเน้นสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน เพราะธุรกิจย่อมเผชิญกับปัจจัยความท้าทายต่าง ๆ บริษัทจึงต้องพัฒนาอยู่เสมอเพื่อให้สามารถเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน บริษัทมีเป้าหมายในการสร้างกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดความสมดุลใน 4 มิติดังนี้

  1. มิติเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและมีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน
  2. มิติสังคมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยของคนในสังคมและส่งเสริมให้เกิดความสุขทางใจหรือสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
  3. มิติสิ่งแวดล้อมบริษัทพยายามอย่างเตมที่ที่จะใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าและควบคุมให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
  4. มิติการกำกับดูแลกิจการ การวางโครงสร้างและระบบการกำกับดูแลกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการกำกับดูแล การติดตาม การประเมินผลเพื่อให้ทุกฝ่ายมีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
กรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

บริษัทใช้กรอบ ESG ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เกิดความมั่นคงทางธุรกิจพร้อมไปกับกระบวนการบริหารจัดการผลกระทบเชิงลบและส่งเสริมให้เกิดผลกระทบเชิงบวกใน 3 ประเด็น คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นนักลงทุนตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

  1. ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ (Economic Sustainability) การบริหารจัดการที่สร้างให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว สร้างความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า และสร้างความพึงพอใจสูงสุดจนสามารถนำไปสู่ความภักดี (Loyalty)
  2. ความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) บริษัทในฐานะผู้สร้างผลกระทบเนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตส่วนหนึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด บริษัทจึงตระหนักถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment), ISO 14001:2015 มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยมีส่วนร่วมในการรักษาสภาพแวดล้อม ความปลอดภัยของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้นโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
  3. ความยั่งยืนในมิติสังคม (Social Sustainability) การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลทั้งภายในและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียภายนอก บนรากฐานของหลักความยุติธรรม เท่าเทียมกัน สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาในระยะยาว ภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
  4. การกำกับดูแลกิจการที่ดี, ธรรมาภิบาล, บรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นแนวทางและหลักการพื้นฐานบนความถูกต้องและเป็นธรรม ประกอบกับจรรยาบรรณธุรกิจที่บริษัทกำหนดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาล ภายใต้นโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม

ประกอบกับ PC-CWG-002 นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท (Corporate Social Responsibility Policy) ที่คำนึงถึงปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับนโยบายด้านความยั่งยืนของบริษัทเช่นกัน

การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Disclosure)

บริษัทมีกระบวนการในการรวบรวม จัดเก็บข้อมูลรวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ก่อนนำข้อมูลไปเปิดเผย สื่อสารต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างคุณค่าหรือมูลค่าให้แก่บริษัท

นโยบายด้านความยั่งยืน